แบงก์ยักษ์สหรัฐ -ยุโรป ส่อแววพาเหรดล้ม ต้นตอทุบตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกร่วง หวั่นผุดมหากาพย์วิกฤตธนาคารเพราะอะไร?

609
0
Share:

ธนาคาร ยักษ์ สหรัฐ - ยุโรป ส่อแววพาเหรดล้ม ต้นตอทุบตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกร่วง หวั่นผุดมหากาพย์ วิกฤต ธนาคารเพราะอะไร?

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเชื่อว่าบรรดาคอหุ้น หรือสายลงทุนคงจะตกอกตกใจกับบรรยากาศของตลาดหุ้นไทย รวมถึงทั่วโลกที่พากันร่วงระนาว แถมยังผันผวนรุนแรงอย่างมาก

สาเหตุหนึ่งก็มาจากธนาคารยักษ์ใหญ่ อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ อย่าง “ซิลิคอน วัลเลย์” สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้หรือสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทกองทุนร่วมทุน (VC) หลายแห่งทั่วโลก มีมูลค่าตลาดกว่า 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 584,000 ล้านบาท ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องอย่างหนัก กดดันให้ต้องขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ธนาคารได้สะสมไว้ เพื่อระดมเงินทุนมาพยุงธุรกิจ แต่มูลค่าของพันธบัตรกลับตกลงในช่วงปีที่ผ่านมา จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ

แน่นอนว่าความมั่นคงของบรรดาบริษัท VC ลดลง ก็พากันถอนเงินทุน ส่งต่อความไม่มั่นใจไปยังลูกค้ารายย่อยที่มีเงินฝากแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร เกิดเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างความโกลาหลในแวดวงการเงิน จนในที่สุด “ซิลิคอน วัลเลย์” ต้องถูกปิดตัวไป เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดของธนาคารสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2008

จากธนาคารแรกกระทบชิ่งต่อเนื่องมายังอีกธนาคาร นั่นคือ ธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) ที่เน้นปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีก็ทนรับไม่ไหว ต้องปิดตัวลงไปเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2566 เนื่องจากลูกค้าของธนาคารได้แห่เข้าถอนเงินจากธนาคารซิกเนเจอร์เช่นกัน รวมแล้วกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์

และยังมีอีกรายนั่นคือ ธนาคารซิลเวอร์เกต (Silvergate Bank) ที่มีการรายงานภายหลังว่าถูกปิดไปก่อนธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ไม่กี่วัน เพราะประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง ซึ่งธนาคารนี้ก็ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทฯ เช่นกัน

ล่าสุด ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่เก่าแก่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ รองจากธนาคารยูบีเอส (UBS) มีความเชื่อมโยงกับธนาคารใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐ รวมทั้งมีอิทธิพลต่อระบบการเงินของโลก เพราะมูลค่ามากกว่า 3 ธนาคารแรกด้วยซ้ำ จากการพบรายงานว่าหุ้นของธนาคารเครดิตสวิสร่วงลงถึง 24% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ธนาคารยอมรับว่าตอนนี้การเงินของธนาคารอ่อนแอจริง ซ้ำเติมให้หุ้นยิ่งดิ่งลงไปถึง 30% กระทบต่อตลาดทุนในยุโรปตลาดหุ้นสหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ร่วงไปตามๆ กัน

หน่วยงานกำกับดูแลของสวิสถึงกับต้องออกโรง กู้ยืมเงินจากธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ราว 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องให้เครดิตสวิส

เหตุผลที่ทางการของสวิสต้องรีบเข้าเบรกความร้อนแรง โดยการอุ้มเครดิตสวิสนั่นก็เพราะเป็นธนาคารรายใหญ่ ที่หากล้มขึ้นมา ยักษ์ล้มตัวเล็กๆ ย่อมสะเทือน ธนาคารที่เล็กกว่าอาจถูกลูกหลงเป็นแน่ และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อระบบการเงินทั่วโลก

จากวิกฤตการณ์ของสถาบันการเงินที่เกิดขึ้น ทั้ง 4 ธนาคารยักษ์ที่มีต่อบ้านเรา คงหนีไม่พ้นเอฟเฟคถึงนักลงทุนที่ต่างตื่นตระหนก จะเห็นได้จากการที่ตลาดหุ้นผันผวน ดิ่งลงแรง และดีดตัวขึ้นสุดเหวี่ยงพอๆ กัน จนเมื่อปลายสัปดาห์กลับมาฟื้นตัวได้ เช่นเดียวกลับตลาดหุ้นเอเชีย ยุโรปและสหรัฐ เพราะคลายความกังวลวิกฤตธนาคารกันแล้ว

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า สถานการณ์ธนาคารในสหรัฐจะมีแนวโน้มทำให้สภาพคล่องและความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับลดลงเล็กน้อยในระยะสั้น แต่ความเสี่ยงที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกเหมือนในปี 51 ยังมีน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

น.ส.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน EIC กล่าวว่า ในกรณีที่สถานการณ์ลุกลามจนเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EMs (เดิมเรียกประเทศกำลังพัฒนา) จะได้รับผลกระทบรุนแรง 4 ด้าน คือการส่งออกแย่ลง เงินทุนไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ภาวะการเงินในประเทศตึงตัว นโยบายการเงิน เสถียรภาพด้านต่างประเทศอ่อนแอ จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงิน

ซึ่งก็แปลว่าเศรษฐกิจไทย อาจได้รับผลกระทบผ่านการส่งออก และภาวะการเงินตึงตัว ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญความผันผวนสูงตามทิศทางตลาดการเงินโลก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง หรือเรียกง่ายๆ คือเททขายหุ้นไทย แต่โดยรวม EIC ยืนยันเหมือนกับกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติว่าตลาดการเงินไทยมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะเผชิญกับความผันผวนสูงในช่วงวิกฤตการเงินที่ผ่านมาหลายครั้ง และไม่ได้ส่งผลต่อระดับความตึงตัวของภาวะการเงินมากนัก

บรรดาโบรกเกอร์ กูรูด้านการลงทุนก็ยังคงให้ติดตามดูการประชุมเฟด ถ้ามีการปรับตัวอัตราดอกเบี้ยมากกว่าคาด จะทำให้ตลาดกลับมากังวลได้ต่อ แต่หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด 0.25% ก็จะทำให้ตลาดผ่อนคลายมากขึ้น และปรับตัวขึ้นไปได้

นักลงทุนก็คงจะหวังว่าตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าจะไม่หักปากกาเซียนกูรูอีกรอบแล้วกัน…

BTimes