หรือคนไทยต้องรับสภาพกัดฟันสู้ยุคน้ำมัน ข้าวของแพง ดีเซลปีกระต่าย ลุ้นพุ่งติดจรวดเฉียด 35 บาท

530
0
Share:

หรือคนไทยต้องรับสภาพกัดฟันสู้ยุค น้ำมัน ข้าวของ แพง ดีเซล ปีกระต่าย ลุ้นพุ่งติดจรวดเฉียด 35 บาท

หรือคนไทยต้องรับสภาพกัดฟันสู้ยุคน้ำมัน ข้าวของแพง ดีเซลปีกระต่าย ลุ้นพุ่งติดจรวดเฉียด 35 บาท จาก 33.1 บาทต่อลิตรในปี 65 หมดหนทางแก้แล้วจริงหรือ?

ในยุคที่ค่าครองชีพสูง ข้าวของขึ้นราคา ดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น น้ำมันก็ดันมาแพงหูฉี่ ขึ้นทีรวบตึง ไม่เท่าลงสามรอบเลยก็ว่าได้ นั่นก็อาจจะยิ่งทำให้หลายคนต้องสู้ชีวิตหนักกว่าเก่า

หากย้อนกลับไปราคาน้ำมันพุ่งติดจรวดมาตั้งแต่ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ลากยาวมากว่า 1 ปี ล่าสุดการสู้รบยังคงไม่มีวี่แววจะยุติลง จนก่อให้เกิดการคว่ำบาตรของบรรดาชาติมหาอำนาจที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม ทำให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกตึงตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ทะลุ 100 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำสถิติกันเป็นว่าเล่น และคาดว่ายังอยู่ในระดับสูงในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

สิ่งที่รัฐบาลทำได้นั่นก็คือ ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ก่อนจะขยับเพดานมาไม่เกิน 35 บาท และปัจจุบัน 34 บาทต่อลิตร ควบคู่ไปกับการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล รวมเม็ดเงินที่คลังสูญรายได้ราว 1.38 แสนล้านบาท เพิ่มภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่ตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้แตะระดับสูงสุดถึง 1.2 แสนล้านบาท แม้ว่าฐานะปัจจุบันเริ่มดีขึ้นเพราะราคาน้ำมันตลาดโลกอ่อนตัวลงแต่ภาระหนี้กองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 12 ก.พ. 66 ยังคงติดลบ 108,610 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 62,895 ล้านบาท LPG ติดลบ 45,715 ล้านบาท

นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 33.1 บาทต่อลิตรในปี 65 เป็น 34.7 บาทต่อลิตรในปี 66 หรือเพิ่มขึ้น 1.6 บาทต่อลิตร เนื่องจากการคาดการณ์คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะกลับมาเก็บเงินจากน้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้ง หลังจากนำเงินจากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลในปี 65 และภาครัฐมีแนวโน้มปรับภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มขึ้นอีก

ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตดีเซลและเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร และ 4.88 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ทั้งนี้ภาษีสรรพสามิตดีเซลในอัตราปัจจุบันได้รับการลดหย่อนจากภาครัฐแล้วที่ 5 บาทต่อลิตร ซึ่งมาตรการอุดหนุนดังกล่าวจะสิ้นสุดใน 20 พ.ค. 66 นี้

เชื่อหรือไม่ว่ามีพรรคการเมืองบางพรรค เสนอนโยบาย “น้ำมันประชาชน” โดยจะลดราคาน้ำมันเบนซินประมาณลิตรละ 18.07 บาท น้ำมันดีเซลปรับลดประมาณลิตรละ 6.37 บาท หากเข้ามาเป็นรัฐบาล หลายคนหลายฝ่ายต่างก็มองว่าทำไม่ได้แน่นอน หรือเรียกได้ว่า “ขายฝันขั้นสุด“ แต่อย่าลืมว่าธุรกิจน้ำมันนั้นมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ปัญหาเพียงแค่ชั้นเดียว เพราะ “โครงสร้างราคาน้ำมัน” ในบ้านเราสลับซับซ้อนมากกว่าที่เราทราบๆกัน การขายฝันโดยการปั้นนโยบาย “ลด” ภาษี และ “ยกเลิก” มาตรการบางอย่างนั้นอาจจะช่วยไม่ได้ทั้งหมด

ซึ่งในตัวโครงสร้างราคาน้ำมันมีทั้ง “ต้นทุนเนื้อน้ำมัน” ที่ซื้อมาจากโรงกลั่น หรือ “ราคา ณ โรงกลั่น” ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งหลายคนน่าจะสงสัย! อ้าวแล้วทำไมช่วงน้ำมันสิงคโปร์ลด น้ำมันบ้านเราไม่ลดล่ะ ส่วนที่ 2 เป็น “ค่าภาษี” และ “เงินนำส่งกองทุน” ต่างๆ ที่รัฐบาลเรียกเก็บมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 32% และต้นทุนส่วนที่ 3 เป็น “ค่าการตลาด” ของผู้ประกอบการ หรือปั๊มน้ำมัน มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 6% เมื่อคำนวณหักลบกลบหนี้ จึงทำให้ต้นทุนน้ำมันบ้านเราสูงลิ่ว สะท้อนมายังราคาขายปลีกจึงสูง สุดท้ายภาระก็ตกมาที่ประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้น้ำมัน

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมรัฐบาลต้องเก็บภาษีซ้ำซ้อน กองทุนอะไรต่อมิอะไรมากมายหลายต่อ ให้ต้นทุนมันพุ่งพรวดได้ขนาดนี้ และยิ่งการนำนโยบายมาขายฝันเกินจริงมันก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไร

แม้ว่าจนถึงตอนนี้ภาครัฐจะยังเห็นความจำเป็นที่ต้องตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 34 บาทต่อลิตร แต่เมื่อไรที่สิ้นสุดมาตรการ หรือหมดยุครัฐบาลชุดเก่า ชะตากรรมคนใช้น้ำมันต่อจากนี้ก็คงต้องยอมรับสภาพ ข้าวของรอจ่อแพง เพราะอย่าลืมว่าราคาน้ำมันคือต้นทุนหลายอย่าง ดังนั้นถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการจะแก้ปัญหาค่าครองชีพช่วยประชาชนตาดำๆ การย้อนไปที่ตินตอ ซึ่งก็คือ โครงสร้างราคาที่แท้จริง ก็อาจจะเป็นแนวทาง หนทางแสงสว่างขึ้นมาก็เป็นได้

BTimes