ซูเปอร์ชงชีวิตคนไทย หนีพิษเศรษฐกิจ ปะเฮอริเคนเงินเฟ้อ เจอพายุค่าไฟแพงแรงสุดเพดาน 300%

600
0
Share:

ซูเปอร์ชงชีวิตคนไทย หนีพิษเศรษฐกิจ ปะเฮอริเคนเงินเฟ้อ เจอพายุ ค่าไฟแพง แรงสุดเพดาน 300%

หลายๆ คนน่าจะพอได้เห็นโซเชียลพากันแชร์สลิปค่าไฟฟ้าพร้อมด้วยการตั้งคำถาม “ใช้ค่าไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม คือ ค่าไฟพุ่ง” โดยในรอบกันยายน – ธันวาคม 2565 แพงพุ่งพรวดรวดเดียว 300% ว่ากันว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เลยก็ว่าได้ พอเห็นอย่างนี้หลายคนก็อาจจะเริ่มสังเกตบิลค่าไฟที่บ้านของตัวบ้างแล้ว ว่าค่าไฟพุ่งขึ้นเหมือนกันไหม?

แต่รู้หรือไม่ว่า เบื้องลึกเบื้องหลังของค่าไฟที่แพงขึ้นมาแบบไม่น่าให้อภัยนั้นมีสาเหตุอยู่…

ค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือค่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่น ราคาเชื้อเพลิง ค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อช่วงนั้นๆ ดังนั้นค่า Ft จะมีปรับขึ้นได้หรือลงก็ได้ ซึ่งในบ้านเรามีการกำหนด ปรับค่า Ft หรืออัตราค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนผลิตไฟฟ้า อย่างค่าไฟในรอบที่เป็นกระแส กันยายน – ธันวาคมก็คือระยะ 4 เดือนนั่นเอง

ซึ่งต้นทุนหลักๆ ของค่าไฟฟ้าบ้านเราก็มาจาก “ก๊าซธรรมชาติ” ที่โดยปกติไทยจะผลิตเอง 66% อีก 34% คือนำเข้า และตอนนี้ก๊าซธรรมชาติขาดแคลน จากการที่แหล่งผลิตหลักเอราวัณขาดหายไป เพราะเป็นช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านระหว่างผู้รับสัมปทานรายเก่ากับรายใหม่ รอยต่อตรงนี้แหละที่ทำให้การผลิตก๊าซที่แหล่งเอราวัณไม่ต่อเนื่อง ก๊าซฯ จึงไม่เพียงพอ

พอเกิดปัญหาบ้านเราจึงแก้โดยการนำเข้า ‘ก๊าซธรรมชาติเหลว’ ที่เรียกว่า LNG จากต่างประเทศเข้ามาเสริม หรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วย ‘น้ำมัน’ เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาดหาย แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่าตอนนี้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวราคาแพงและผันผวน น้ำมันก็พุ่ง เพราะข้างนอกเค้ารบกันอยู่ ก็รัสเซีย-ยูเครนไงจะใครล่ะ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็อ้างว่าความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องปรับฐานค่า Ft งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่เรียกเก็บที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ถ้าจะเห็นตามที่เค้าแชร์กันก็เทียบได้ว่าแพงขึ้นกว่า 300%

ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภคให้ข้อมูลว่า ไฟฟ้าที่คนไทยใช้ประมาณ 55–60% ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ แต่ก๊าซธรรมชาติมาจาก 3 แหล่ง คือ
(1) ผลิตเองในประเทศไทย ราคาต่ำที่สุด
(2) นำเข้าจากพม่า ราคาแพงกว่าแหล่งแรก
และ (3) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ถ้าเป็นราคาขาจรจะแพงมาก
นั่นเป็นที่มาของก๊าซฯ

แต่ปัญหาเบื้องลึกที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้กัน… นั่นก็คือบ้านเรามี “ปริมาณไฟสำรองล้นประเทศ” โดยมีการประเมินกันว่าระบบกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยมีพลังงานสำรองสูงถึง 35–50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามค่ามาตรฐานของการศึกษาควรจะสำรองไม่เกิน 15% ยกตัวอย่างตัวเลขกลมๆ ถ้าตามแผนในปี 2565 คาดว่าจะใช้ไฟ 100 หน่วย เลยผลิตไฟฟ้า 115 หน่วย (สำรอง 15% เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐาน) แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้มีการใช้ไฟจริงแค่ 70 หน่วย ทำให้การสำรองไฟฟ้าเหลือมากกว่า 15% แต่เนื่องจากตามแผนมีการคำนวณค่าไฟที่ 115 หน่วย ไปแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะใช้แค่ 100% หรือ 70% ก็ต้องคิด 115%

พอการสำรองไฟฟ้ามากเกินไป ภาระจึงไปตกอยู่ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟที่เป็นผู้แบกรับต้นทุน เพราะต้องจ่ายค่าไฟให้การไฟฟ้า ยิ่งในสถานการณ์จริงปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินไปกว่า 15% มาก ประมาณการถึง 50% เลยทีเดียว ทั้งที่ความต้องการใช้ไฟของประชาชนไม่ได้มากขนาดนั้น และแน่นอนว่าคงจะมีคำถามว่าเมื่อซัพพลายสูงกว่าดีมานด์ ราคาแทนที่จะลดลง แต่ดันสูงขึ้น มันใช่หรอ?

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ข้อมูลอีกว่า ไทยยังมีการวางแผนให้มีโรงไฟฟ้าสำรองล้นเกินในปี 2557 เรามีกำลังผลิตสำรอง 29% ซึ่งในทางสากลถือว่าควรจะมี 10–15% ปัจจุบันเรามีสำรองถึง 51% ประชาชนต้องมีค่าความพร้อมจ่ายทั้งๆ ที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะเราทำสัญญาแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take or Pay)” ปีละหลายหมื่นล้านบาท และในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เกิดขึ้นจำนวนมาก ราคารับซื้อไฟฟ้าก็แพงกว่าที่ซื้อจากเอกชนรายใหญ่ แต่ทุกรายเดินเครื่องทำงานต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลมากๆ นี่คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง และจะแพงกว่านี้อีก เพราะยังมีอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเกี่ยวกับการนำเข้า LNG เสรี แต่ไม่เสรีจริง

ถึงแม้ค่าไฟจะแพงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็คงไม่ต่างอะไรจากการรีดเลือดออกจากปู ในสภาพเศรษฐกิจไม่สู้ดี เงินเฟ้อแรง ของแพงขึ้น ยิ่งถ้าคนยังต้องกำเงินไว้ เพื่อรอจ่ายค่าไฟสิ้นเดือนที่ไม่รู้จะแพงขึ้นพรวดอีกเมื่อไร ความหวังเศรษฐกิจจะฟื้นเร็วนั้นคงต้องรออีกยาวๆ เพราะถ้าคนยังระวังที่จะจ่าย จะเอาเงินตรงไหนไปกระตุ้นกำลังซื้อก่อน…

BTimes