เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ แจงเหตุขยับขึ้นราคา สอดคล้องต้นทุน อากาศร้อนจัดทำผลผลิตลดลง

145
0
Share:
เกษตรกรผู้เลี้ยง หมู เลี้ยง ไก่ ไข่ แจงเหตุขยับ ขึ้นราคา สอดคล้องต้นทุน อากาศร้อนจัดทำผลผลิตลดลง

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ราคาเนื้อหมู และไข่ไก่ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ทำให้ทำผลิตลดลง โดยจากช่วงก่อนหน้านี้ มีการประกาศขึ้นราคามาแล้วหลายรอบ โดยหมูเป็นหน้าฟาร์ม อยู่ที่กิโลกรัมละ 69.70 บาท และราคาหมูเนื้อแดง สัปดาห์นี้ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 130-131 บาท แม้ราคาจะดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เฉลี่ยกว่ากิโลกรัมละ 150 บาท และเป็นราคาที่ยังไม่คุ้มทุนของผู้เลี้ยง เนื่องจากยังมีปริมาณผลผลิตส่วนเกินอยู่ถึง 8,000-10,000 ตัวต่อวัน ซึ่งกรมการค้าภายใน ได้เชื่อมโยงผลผลิตจากผู้เลี้ยง เพื่อช่วยเกษตรกรระบายสินค้า ผ่านงานธงฟ้าที่จัดทั่วประเทศ และผ่านรถโมบายธงฟ้า ดำเนินมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ และจะทำจนกว่าจะสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ส่วนไข่ไก่ ผลผลิตภาพรวมไม่ได้ลดลง แต่ไข่ใบเล็กลง สัดส่วนเบอร์ 3 ถึงเบอร์ 5 มีถึง 50% จากปกติจะอยู่ที่ 30% ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับผู้เลี้ยง เพื่อช่วยระบายไข่ไก่เบอร์เล็ก รวมถึงพี่น้องประชาชน ได้มีทางเลือกในการซื้อไข่ไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาด

ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้เชิญผู้เลี้ยง มาหารือแนวทางช่วยเหลือให้เกษตรกรอยู่รอด ซึ่งกรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือให้ตรงราคาหมู และไข่ไก่ ไว้ในระดับปัจจุบันไปสักระยะ ซึ่งทางผู้เลี้ยงเอง ได้ขอให้ช่วยสนับสนุนเรื่องต้นทุน ที่ต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

นายสัตวแพทย์ เกียรติภูมิ พฤกษะวัน เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า สถานการณ์จริงของผู้เลี้ยงหมู ราคาเฉลี่ยที่ขายได้ในเดือนมีนาคม 2567 เฉลี่ยเพียงกิโลกรัมละ 58.75 บาท แต่ต้นทุนมาตรฐาน 71.95 บาท สำหรับผู้ซื้อสุกรเข้าเลี้ยง และ 79.05 บาท สำหรับผู้เลี้ยงครบวงจร และในเดือนเมษายน มีสัญญาณดีขึ้น ขายได้เฉลี่ย 66 บาท และราคาวันนี้ 68-69 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาประกาศแนะนำ 72 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าราคาขายจริง ไม่ได้ตามที่ประกาศ

ดังนั้น อยากให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยเพราะที่ผ่านมาขาดทุนต่อเนื่อง มีช่วงต่ำสุด ขายหมูหน้าฟาร์มได้55 บาท แต่ต้นทุนสูงถึงกิโลกรัมละ 75-76 บาท ขาดทุนถึงตัวละ 2,000 บาท ในแต่ละเดือนขายหมูกว่า 1 ล้านตัน ทำให้วงการขายหมูมีการขาดทุน เดือนละ 2,000 กว่าล้านบาท สะสมสูงถึงปีละ 20,000 – 30,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเกษตรรายย่อย จะยิ่งขาดทุนสูง จึงอยากให้กรมการค้าภายใน เข้ามาดูแลให้สถานการณ์ให้ผู้เลี้ยงหมูอยู่รอด สามารถเลี้ยงหมู ป้อนคนในประเทศต่อไป

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่กล่าวว่าสถานการณ์ของผู้เลี้ยงไก่ ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงนี้อากาศร้อนจัด ทำให้ไข่ไก่เบอร์เล็กลง แต่มีการพูดกันถึงราคาเฉพาะไข่เบอร์ใหญ่ ทำให้เข้าใจว่าไข่ราคาแพง จึงอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจผู้เลี้ยงบ้าง แม้ราคาไข่ไก่ จะปรับขึ้นมาบ้าง เฉลี่ยทั้งปี แต่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับความเสี่ยง จะได้กำไรเพียง 4-5 เดือนนอกนั้นเสมอตัวและขาดทุน ทำให้ผู้เลี้ยง ล้มหายไปเยอะ จากกว่า 1 แสนราย เหลือไม่ถึง 10,000 ราย เหลือเฉพาะรายใหญ่เป็นส่วนมาก