อลเวงไม่รู้จบ กับข่าวลือเรื่องการแย่งวัคซีนไฟเซอร์ที่ทำประชาชนหวาดระแวง VVIP

1144
0
Share:

อลเวงไม่รู้จบ กับข่าวลือเรื่องการแย่งวัคซีน ไฟเซอร์ ที่ทำประชาชนหวาดระแวง VVIP

นับตั้งแต่ที่มีข่าวว่าสหรัฐอเมริกาได้ทำการมอบวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดสให้กับประเทศไทย ก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ประชาชนจับตามองว่าจะมีการจัดสรรวัคซีนทั้งหมดอย่างไร ทั้งในแง่จำนวนที่จะฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้า การจัดการกับกลุ่มของผู้ที่จะได้รับวัคซีนชนิดนี้ หรือประเด็นที่ลือกันอย่างหนาหูว่าจะมีการ “ล็อกสิทธิ์ฉีดให้แก่กลุ่ม VVIP” ซึ่งต้องบอกเลยว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พลาดไม่ได้

วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐฯ ใครบ้างที่จะได้รับ

หลังจากที่วัคซีนไฟเซอร์เข้าประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เกิดฝุ่นตลบอบอวลทันที เพราะการต่อสู้แย่งชิงวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดสนี้เป็นไปอย่างเข้มข้นมาก เนื่องจากมีการแชร์ข้อมูลเอกสารหลุดต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมีความหวาดระแวงมากขึ้นว่าจะมีกลุ่มคนที่เรียกว่าบุคคล VVIP เข้ามาร่วมแชร์วัคซีนไปจากบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ และอีกนัยหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากประชาชนไปไม่น้อย คือการที่คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ลอตแรก 1.54 ล้านโดส ประกอบด้วย

1. บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ เฉพาะเพื่อเป็นบูสเตอร์เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน จำนวน 7 แสนโดส

2. ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป 6.45 แสนโดส

3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักการทูต นักศึกษา 1.5 แสนโดส

4. เพื่อทำการศึกษาวิจัย จำนวน 5 พันโดส

5. สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ จำนวน 4 หมื่นโดส

โดยข้อกำหนดที่ 1 ได้แยกย่อยรายละเอียดที่เป็นเงื่อนไขเพื่อใช้เป็น “เข็มกระตุ้น” และตีกรอบผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไว้ดังนี้

1. ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ครบ 2 เข็ม

2. ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 3 แล้ว

3. ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม และแอสตราเซเนกา 1 เข็ม

4. ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตราเซเนกา มาเพียง 1 เข็ม หรือได้รับการฉีดวัคซีนอื่นๆ

จากเกณฑ์เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดเป็นประเด็นทางสังคม เพราะทำให้บุคคลากรด่านหน้ารู้สึกเจ็บปวด เนื่องจากพวกเขาเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ต้องสัมผัส หรือพบเจอกับผู้ป่วยโดยตรง แต่เงื่อนไขการได้รับวัคซีน mRNA กลับมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งยังมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก จุดนี้เองทำให้ประชาชนที่ทราบข่าวรู้สึกไม่เป็นธรรมกับบุคคลด่านหน้า จนพากันแสดงความคิดเห็น พร้อมทวงทางถึงความเหมาะสมของเกณฑ์ดังกล่าว ผ่านแฮชแท็ก #ทวงPfizerให้ด่านหน้า กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ ถึงขั้นติดเทรนด์ในทวิตเตอร์

สุดท้ายสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องผ่านแฮชแท็กก็เป็นผล เพราะได้มีการแก้ไขเกณฑ์การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงง่ายขึ้น โดยมีหลักเกณฑ์ใหม่ในการให้วัคซีน ดังนี้

1. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือวัคซีนซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ กระตุ้น 1 เข็ม

2. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะเวลาห่างระหว่างโดส ตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก

3. บุคลากรที่ไม่เคยได้วัคซีนใดๆ มาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์

4. บุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีน มีเกณฑ์ให้วัคซีน ดังต่อไปนี้

1. วัคซีนซิโนแวค เข็มแรก และวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 2

2. วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม

3. วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา 1 เข็ม

คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา ขณะนี้ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เพราะบุคลากรดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงเพียงพอ เนื่องจากเพิ่งฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม บุคลากรกลุ่มนี้ให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ และจะมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการ และดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ตามข้อมูลวิชาการ และจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มในระยะต่อไป

จากเหตุการณ์นี้เรียกได้ว่า “เสียงสะท้อน” ของประชาชนได้สัมฤทธิ์ผล แต่ก็ยังมิวายให้ปวดหัวต่อเนื่อง เพราะได้มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียรายหนึ่งแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ว่ามีประชาชนที่ไม่ใช่บุคคลากรด่านหน้าได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในเนื้อหามีการระบุว่า มีบุคคลหนึ่งอ้างว่าตนว่าเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาของนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ไปขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3 ให้ ซึ่งตนเองไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาที่จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาก็ทราบข้อมูลในภายหลังว่า บุคคลที่ถูกกล่าวถึงว่าไปขอฉีดเข็ม 3 นั้นคือ นางแน่งน้อย อัศวกิตติกร

โดยนางแน่งน้อย ได้ออกมาชี้แจงหลังมีกระแสว่า “ยอมรับว่าฉีดวัคซีนเข็ม 3 จริง แต่สาเหตุที่ต้องไปขอฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 คือเนื่องจากตนเองทำงานด่านหน้ามาโดยตลอด นำสิ่งของต่างๆ มาบริจาคมอบให้กับจุดคัดกรอง หรือโรงพยาบาลสนามตลอด ด้วยความเป็นผู้สูงอายุที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนนั้น ตนเองมีคิวที่จะฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาอยู่แล้ว แต่เนื่องจากช่วงแรกๆ ประชาชนออกมาฉีดวัคซีนน้อย ตนจึงมาช่วยรณรงค์ให้ประชาชนหันมาฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ด้วยการไปฉีดวัคซีนซิโนแวคแทนทั้ง 2 เข็ม แต่มีแพทย์มาบอกตนเองว่าการเป็นผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มนั้นไม่ดี อาจเสี่ยงต่อภูมิคุ้มกันเหลือน้อย เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ ตนจึงได้ขอเข้าไปฉีดวัคซีนเข็ม 3”

จากเหตุผลดังกล่าวที่มีการชี้แจงออกมา ส่งผลประชาชนที่ทราบเรื่องราวนี้พากันแสดงความคิดเห็นต่อบนโลกออนไลน์ เพราะรู้สึกไม่เป็นธรรม และคิดว่าหากจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยเหตุผลนี้ ไรเดอร์ที่เป็นคนขับรถส่งอาหารก็ควรได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ประชาชนต่างก็ยังมีความเคลือบแคลงใจลึกๆ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าแผนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่เข้ามาจะเอื้อให้บุคคลที่ชาวเน็ตเรียกว่า VVIP มีโอกาสแฝงตัวเพื่อเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัดหน้าบุคลากรทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้ทำการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ลงไปในจังหวัดต่างๆ และเราก็ได้แต่หวังว่าวัคซีนจะเดินทางไปถึงกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงชีวิตที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ “ด่านหน้า” นับตั้งแต่แพทย์ พยาบาล เวรเปล แม่บ้าน นักเทคนิคการแพทย์ รวมไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) หรือกระทั่งอาสาสมัครกู้ภัย-เก็บศพ-สัปเหร่อ จริงๆ

สุดท้าย ทีมงาน BTimes ก็ขอส่งกำลังใจให้กับทุกคนสามารถก้าวผ่านวิกฤตยักษ์ในครั้งนี้ไปได้ เราจะสู้และเป็นผู้อยู่รอดไปด้วยกันค่ะ

BTimes