มหากาพย์ดีล 2 ยักษ์ กสทช.สั่งปิดจ๊อบควบรวมทรู-ดีแทค ประโยชน์นี้ตกที่ใคร?

460
0
Share:

มหากาพย์ดีล 2 ยักษ์ กสทช.สั่งปิดจ๊อบ ควบรวม ทรู - ดีแทค ประโยชน์นี้ตกที่ใคร?

ประเด็นใหญ่ที่ยืดเยื้อมานาน และกลายเป็นกระแสอื้ออึงกันอยู่ในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นดีลควบรวมกิจการของ 2 ยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือทรูและดีแทค ที่ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิจารณาตัดสินไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา

ที่สุดบอร์ด กสทช.ก็ได้มีมติ “รับทราบ” การควบรวมกิจการระหว่าง ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ หลังจากการประชุมพิจารณามีการเลื่อนอนุมัติมาหลายนัด ล่าสุดการพิจารณาครั้งสุดท้ายก็ยังกินเวลาไปกว่าครึ่งค่อนวัน หรือร่วม 11 ชม. ท้ายที่สุดในช่วงค่ำก็ต้องตัดสินใจลงมติให้รู้แล้วรู้รอดกันไป

นอกเหนือจากการพิจารณา “รับทราบ” การควบรวมกิจการของทรูและดีแทคแล้ว บอร์ด กสทช. ก็ยังได้กำหนดเงื่อนไข มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมด้วย โดยเฉพาะการกำหนดราคาค่าบริการ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2564 ให้ครบถ้วน โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่งสำนักงาน กสทช. ทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ เพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนรวมเฉลี่ย ซึ่งเป็นราคาในตลาดที่มีการแข่งขัน (Average Cost Pricing) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง เป็นต้น

แต่ก็ไม่วายเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันต่อเนื่อง และมีการตั้งคำถามจากนักวิชาการ รวมถึงบรรดาประชาชนผู้บริโภคกันเป็นจำนวนมาก

นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ออกมาให้ความเห็นหลังมติออกมา ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ในอนาคตแน่นอน โดยเฉพาะค่าบริการที่คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างน้อยที่สุด 10% สูงสุดถึง 200% และยังส่งผลให้เกิดความไม่ชอบธรรมต่างๆ มากมาย พร้อมทั้งยังได้ตั้งข้อสังเกตชี้ไปยัง กสทช.ว่าไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ โดยเชื่อว่าผลกระทบไม่เพียงแต่จะเกิดกับผู้บริโภค แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งระบบด้วย

“นี่เป็นวันที่น่าเศร้าของระบบเศรษฐกิจไทย น่าเสียดายที่ กสทช. ไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก นำพาธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจยุทธศาสตร์ของประเทศไปยืนอยู่บนความเสี่ยง ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมหันต์” ข้อความบางส่วนจากเฟซบุ๊กของธนาธร ระบุ

ด้านนายปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการ The101.world และบรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ bookscape ก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า อำนาจหน้าที่ของ กสทช. เขียนไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กสทช. ตลอดจนประกาศของ กสทช. ที่ให้อำนาจกำกับดูแล โดยมีมาตรการป้องกันไม่ให้แสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ตลอดจนป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ซึ่งตามข้อกฎหมายระบุชัด กสทช. มีสิทธิห้ามควบรวมได้ โดยตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในการการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน 2 ข้อ คือ ข้อ 5 กำหนดให้การรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมที่ก่อให้เกิดนิติบุคคลใหม่เช่นนี้ จะต้องรายงานต่อ กสทช. และข้อ 9 การรายงานนั้นให้ถือเป็นการ ‘ขออนุญาต’ ตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 แต่ใยคำตัดสินที่ออกมา กสทช. กลับทำได้แค่ “รับทราบ” เฉย ๆ เท่านั้น และยังมองว่า “กสทช. กำลังตัดเขี้ยวเล็บตามกฎหมายของตัวเองในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ทำไปทำไม แล้วใครได้ประโยชน์ ประชาชน หรือ กลุ่มทุนใหญ่?”

ขณะที่นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษก พรรคไทยสร้างไทย ได้แสดงความกังวลว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การผูกขาดในด้านสาธารณูปโภค ที่ควรเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงค์ชีวิตของประชาชน ทำให้คู่แข่งขันในตลาดจะเหลือเพียงสองเจ้าใหญ่ คือ เอไอเอสและทรูกับดีแทคที่ควบรวมกัน โดยถึงเแม้จะมีการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะ เพื่อรองรับและคุ้มครองผู้บริโภคว่าต้องพ้นสามปีไปก่อน จึงจะสามารถควบรวมได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีความเสี่ยงในอนาคตที่จะทำให้ทิศทางราคาการใช้บริการโทรคมนาคมของประชาชนถูกกำหนดโดยเจ้าตลาดเพียง 2 บริษัทเท่านั้น

ที่มากไปกว่านั้นคือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง เพราะบริษัทมหาชนย่อมคำนึงถึงผลประกอบการเป็นหลัก แต่กิจการโทรคมนาคมนั้นเป็นสาธารณูปโภคที่ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องใช้ การปล่อยให้มีบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 2 บริษัท ดำเนินกิจการเช่นนี้จะส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนอาจทำให้มีการฮั้วกันและไม่แข่งขันตัดราคาซึ่งกันและกันของสองบริษัท ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ของประชาชนพุ่งสูงขึ้นได้

แต่ ดร.รุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษ นักวิชาการ และนักกฎหมาย กลับมองตรงกันข้าม โดยได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า กสทช. มาถูกทางที่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และสอดคล้องตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้เพราะการควบรวมทรูและดีแทค เป็นการที่สองบริษัทควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ (A+B=C) ซึ่งเป็นกรณีที่เรียกว่า Amalgamation ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปมีอำนาจ Take Over หรือควบคุมในผู้รับใบอนุญาตอีกฝ่าย แต่เป็นการควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ ตามประกาศจึงไม่ได้กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ยังคงมีอำนาจในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ กสทช. ได้ให้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ และข้อสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความเห็นและให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานทางราชการ ทั้งสองหน่วยงานมีบทสรุปที่สอดคล้องกันว่า กสทช. ต้องพิจารณาตามประกาศของ กสทช. พ.ศ. 2561 ดังนั้น กสทช. จึงมีหน้าที่รับทราบเพียงเท่านั้น ต้องขอชื่นชมประธาน กสทช. ที่มีภาวะผู้นำสูง กล้าตัดสินใจชี้ขาดให้เดินตามกฎหมายประกาศปี 2561 และไม่เลือกปฏิบัติจึงถือเป็นทางออกที่ถูกต้อง

เช่นเดียวกับนายจิรวิทย์ กุลพัฒน์จัตุพร ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้งานทรู-ดีแทค ที่สนับสนุนการควบรวมนี้ โดยมั่นใจว่าหลังการควบรวมทรู-ดีแทค ราคาค่าบริการจะไม่เพิ่มขึ้นทำให้เดือดร้อน เพราะเหตุผลที่สำคัญที่สุดคือการมี กสทช. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลที่กำหนดเพดานราคาควบคุม และยังมีทางเลือกหากทรู-ดีแทคขึ้นราคา ยังมีเครือข่ายอื่นทดแทน ได้แก่ เอไอเอส และ NT โดยนายจิรวิทย์ไม่ได้มองว่าตลาดมือถือผูกขาดแต่อย่างใด ผลงานทางวิชาการอาจกังวลในประเด็นการผูกขาด แต่คิดว่าในโลกความจริงบางครั้งก็แตกต่างจากทฤษฎีโดยสิ้นเชิง นักวิชาการต้องยอมรับและมองให้ครบทุกมิติ นอกจากนี้เงื่อนไขที่ กสทช.กำหนดขึ้น ถือว่าดีกับทั้งอุตสาหกรรม และน่าจะบังคับใช้กับผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม หนังม้วนนี้ยังไม่จบแน่นอน เพราะแม้มติจะเป็นทางการแล้ว แต่ทางด้าน “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ที่ก่อนหน้านี้เป็นองค์กรภาคประชาชนองค์กรหลักที่แสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคมาโดยตลอด ทั้งการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ งานสัมมนา ระดมความเห็นทางกฎหมาย ตลอดจนผุดแคมเปญ #หยุดผูกขาดมือถือ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดค้านดีลใหญ่ดังกล่าวผ่านหลายช่องทาง ล่าสุด ได้เตรียมยื่นเสนอขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กรณี กสทช. อนุญาตการควบรวมทรู-ดีแทค พร้อมร้องคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหตุกรรมการ กสทช. “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ในการพิจารณาการควบรวมกิจการประเภทเดียวกันในครั้งนี้

ขณะเดียวกัน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็จะยื่นฟ้อง บอร์ด กสทช. ตามมาตรา 157 ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณี กสทช. ปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ โดยเชื่อว่าหากผิดจริง การควบรวมครั้งนี้อาจเป็นโมฆะได้

ไม่เพียงแต่บรรดานักการเมือง นักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวเท่านั้น กระแสบนโลกโซเชียลก็ไม่แพ้กัน โดยเกิดแฮชแท็ก #กสทช ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะด้วยในข้อกฎหมาย มนุษยธรรมในการทำธุรกิจ หรืออื่นใดก็ตามที่ว่ากันไปต่างๆ นานา บางคนก็ว่ามองจากบนดอยก็เห็นว่าผลประโยชน์หลักๆ จะตกอยู่ที่ใคร แม้ผลกระทบจริงอาจจะยังไม่เกิดทันที แต่ในอนาคตแต่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่อยู่เกือบจะสุดท้ายปลายห่วงโซ่ ก็ย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ดีหรือเปล่า อยากให้ทุกคนได้ลองคิดกันดู…

BTimes