เงินบาททิ้งดิ่ง ผลตอบแทนแย่ลงและย่ำแย่สุดในเอเชีย จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเงินบาทร่วงลึกลงแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์

1387
0
Share:

เงินบาท ทิ้งดิ่ง ผลตอบแทนแย่ลงและย่ำแย่สุดในเอเชีย จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเงินบาทร่วงลึกลงแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์

ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทดิ่งลงแรงทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ และยังอยู่ระดับแตะพื้นต่อเนื่องมาจนถึงปลายสัปดาห์ จึงทำให้เกิดความกังวลว่าค่าเงินที่ดิ่งขนาดนี้จะไปหยุดที่กี่บาท และจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน

<บาทดิ่งหนักตกต่ำสุดในรอบกว่า 10 เดือน>
เมื่อไม่กี่วันมานี้ อาร์บีซี แคปปิตอล มาร์เก็ต (RBC Capital Markets) ซึ่งสถาบันการเงินด้านการลงทุนชื่อดังในประเทศสิงคโปร์ได้รายงานว่า ค่าเงินบาทของไทยเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐถูกเทขายอย่างแรง ลงมาเคลื่อนไหวต่ำสุดระหว่างวันนี้ที่ระดับ 36.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำลายสถิติค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 เดือนกว่า หรือนับตั้งแต่พฤศจิกายนปี 2565 และยังคว้าแชมป์สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนย่ำแย่มากที่สุดในเอเชียไปครองอีกด้วย

ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจากนักลงทุนต่างประเทศกังวลต่อสถานะการคลังของรัฐบาลไทยในอนาคต บวกกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมามีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และไทยเองก็เป็นประเทศสั่งซื้อนำเข้าน้ำมันดิบยังต้องซื้อแพงขึ้น อีกทั้งการที่รัฐบาลมีแนวโน้มจะต้องกู้ยืมเงินมาสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยตอนนี้ด้วย ยิ่งกดดันให้บรรดานักลงทุนสถาบันเทขายเงินลงทุนทั้งในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ไทย

<บาทอ่อนดี-ไม่ดีอย่างไร?>
ฝั่งได้เปรียบ >> ถ้ามองภาพง่ายๆ อาจจะดูเหมือนว่า ‘อ่อนก็ดีนี่ ส่งออกก็จะดีขึ้นไง’ เพราะรายได้ที่ได้รับมาเป็นสกุลเงินต่างประเทศ สามารถแลกกลับมาเป็นเงินบาทในจำนวนที่มากขึ้นเช่น จากเดิมส่งออกกำไร 100 ดอลลาร์ แลกเงินไทยได้แค่ 3,500 บาท แต่ปัจจุบันการแลกได้ 3,700 บาท

อย่างที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มองว่า เงินบาทอ่อนใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป เพราะมาช่วยเรื่องการส่งออก การท่องเที่ยวทำให้ตัวเลขดีขึ้น เช่นถ้านักท่องเที่ยวมีเงิน 1 เหรียญ ได้ 36 บาท ทำให้คนอยากมาท่องเที่ยวอยากใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นผลดีกับเรา

ยังรวมไปถึงคนทำงานต่างประเทศ หรือรับเงินค่าจ้างเป็นดอลลาร์ เพราะได้รับค่าจ้างค่าแรงเป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อส่งกลับไทยแม้จะมีจำนวนดอลลาร์เท่าเดิม แต่จะทำให้ที่บ้านแลกเป็นเงินไทยได้เพิ่มขึ้น และยังมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ถ้ามีการรับเงินตราสกุลต่างประเทศ จะทำให้รายได้ที่เป็นเงินบาทขยับเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมทั้งนักลงทุนที่ถือทองคำในพอร์ตการลงทุนที่ได้เปรียบ เพราะถือเป็นช่วงจังหวะขายทำกำไร เป็นวัฏจักรที่ค่าเงินบาทอ่อนลงเมื่อไร ราคาทองคำมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ฝั่งเสียเปรียบ >> ในทางกลับกันฝั่งที่ได้รับผลกระทบหลักๆ ก็จะได้แก่ ผู้นำเข้าสินค้าเพราะต้นทุนที่ต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศจะสูงขึ้น ซึ่งเมื่อค่าเงินบาทอ่อนลง ก็ต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อและนำเข้าสินค้า แต่ได้ปริมาณสินค้าเท่าเดิม

กลุ่มผู้ที่มีหนี้ต่างประเทศ เพราะจะต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง เคยเป็นหนี้ 100 ดอลลาร์ ใช้เงินบาทแค่ 3,500 บาทก็จ่ายหนี้ได้แล้ว แต่ ณ วันนี้หนี้ก้อนเดิม 100 ดอลลาร์กลับต้องหาเงิน 3,700 บาทถึงชำระได้ ยิ่งเป็นสถาบันการเงินใหญ่ๆ ที่ไปกู้แบงก์? ต่างชาติก็ต้องชำระดอกเบี้ยแพงไปอีก

ผู้บริโภค เรียกว่าเป็นผู้รับผลกระทบแบบลูกโซ่จากผู้นำเข้า เพราะเมื่อผู้นำเข้าต้องแบกภาระราคาค่านำเข้าสินค้าสูงขึ้น ก็ย่อมผลักภาระให้กับผู้บริโภค เพราะอาจจะต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตามต้นทุนนั่นเอง

นักเรียน-นักศึกษา-นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มที่จะเดินทางไปเที่ยว หรือศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะจะมีต้นทุนที่สูงเพิ่มขึ้น เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว การซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ในต่างประเทศก็จะมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย

และสุดท้ายคือกลุ่มนักลงทุนไทย เมื่อใดที่เงินบาทอ่อนค่าจะทำนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทย เนื่องจากกลัวผลการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะตรงข้ามกับช่วงค่าเงินบาทแข็งค่า ที่เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะจะได้กำไร 2 ต่อ คือทั้งกำไรจากการแข็งค่าของเงินบาท และกำไรจากการปรับขึ้นของราคาหุ้น

<จับตา 3 ปัจจัยทำบาทดิ่งลึก>
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่าในเดือน ก.ย. 2566 บาททิ้งดิ่งเร็วแรงแซงสกุลเงินอื่นในเอเชียไปมาก ซึ่งก็เป็นผลจากดอลลาร์แข็ง และอ่อนตามเงินหยวนเป็นสำคัญ ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2566 นี้ตลาดก็ยังรอจับตาท่าทีเฟด เงินหยวน และปัจจัยเฉพาะของไทย ซึ่งอาจยังคงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้น โดยให้จับตา 3 ปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2566 ซึ่งก็ได้แก่

“ปัจจัยแรก” เฟด ที่มีแววว่ายังคุมเข้มนโยบายการเงิน และมีทีท่าว่าคงยังไม่จบรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นง่ายๆ อาจหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ให้ปรับสูงขึ้น

“ปัจจัยที่สอง” เงินหยวน ที่อาจจะอ่อนค่าลงได้เหมือนกัน ด้วยแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจีนจะยังท่าไม่ดี โดยเฉพาะปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังติดหล่ม ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามได้เช่นกัน

และ “ปัจจัยสุดท้าย” สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดและฐานะการคลังไทย ที่ตลาดเฝ้าติดตาม โดยแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจกดดันให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอ่อนแอลง รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่เตรียมจะดำเนินการในระยะข้างหน้าจะมีผลต่อการประเมินสถานะทางการคลัง ขนาดการก่อหนี้ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพการคลังรัฐบาล

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะยังคงโน้มไปในทิศทางที่อ่อนค่าในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และอาจทดสอบระดับใกล้ๆ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกันอาร์บีซี แคปปิตอล มาร์เก็ตเองก็ทำนายว่าจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาททั้งหลายทั้งปวงนี้ จะยิ่งทำให้เงินบาทมีแนวโน้มร่วงลงแตะระดับถึง 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปีนี้ก็เป็นได้

<ไทยพาณิชย์กลับมอง บาทกลับมาแข็งช่วงปลายปี >
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าลงเร็วถึง 3% ในเดือนนี้เป็นผลจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ แต่ในช่วงปลายปี 2566 เงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย จากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มลดลง ราคาน้ำมันที่จะเริ่มทรงตัวและเศรษฐกิจสหรัฐที่น่าจะชะลอลงตามการใช้จ่ายผู้บริโภค เงินออมของครัวเรือนที่ลดลง รวมถึงภาระหนี้ที่สูงขึ้น และนโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยจะช่วยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดได้ และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อาจเข้ามามากขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงด้วย ซึ่งไทยพาณิชย์ก็คาดว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี อาจอยู่ที่กรอบราว 34.50-35.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

<โยนแบงก์ชาติจัดการ>
นายกฯ เศรษฐาเคยออกมาบอกแล้วว่ารับทราบสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าในประเทศไทย แต่เรื่องนี้อยู่ในความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รัฐบาลไม่ได้ไปก้าวก่าย

ต่อจากนี้ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าเงินบาทจะดิ่งเหวไปลึกแค่ไหน หากแค่อ่อนค่าในระยะสั้นผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ อาจจะยังมาไม่ถึง แต่ถ้ายังอ่อนยวบยาบต่อไปเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปีก็มีสิทธิที่ข้าวของจะแพงตามมาจากต้นทุน ก็ต้องภาวนาให้แบงก์ชาติ หรือรัฐบาลควรเข้ามาทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่ประชาชนตาดำๆ จะเดือดร้อนกันไปมากกว่านี้ น่าจะดีกว่าล่ะว่าไหม?…

BTimes