การเพิ่มบริการเดลิเวอรี หรือการจัดส่งอาหารถึงบ้านเหมาะกับธุรกิจร้านอาหารทุกรูปแบบจริงหรือ?

941
0
Share:

การเพิ่มบริการ เดลิเวอรี หรือการจัดส่งอาหารถึงบ้านเหมาะกับธุรกิจร้านอาหารทุกรูปแบบจริงหรือ?

หลังจากที่ ศบค. ได้ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำการปรับพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อทั่วประเทศใหม่ เพิ่มการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ พร้อมประกาศงดนั่งทานอาหารที่ร้าน แต่สามารถซื้อกลับมาทานที่บ้านได้ถึง 3 ทุ่ม ทำให้เจ้าของธุรกิจร้านอาหารต่างก็ต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจที่มีผลมาจากการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง โดยครั้งนี้ถือเป็นการระบาดระลอกที่ 3 ที่หนักหนาและรุนแรงที่สุด อันจะเห็นได้จากสถิติการพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และมีทีท่าว่าอาจจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มทะลุเพดานต่อไปอีกเรื่อยๆ อย่างหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ และถึงแม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยจะเดินหน้าฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องร่วมมือร่วมใจดูแลกันเอง เพื่อให้รอดจากวิกฤตอันหนักหนานี้…

‘ทำไมไม่ส่งเดลิเวอรีละ ต้องปรับตัวซิ คนอื่นร้านอื่นยังทำได้เลย ทำไมเราไม่ปรับตัว’ คำถามคือบริการนี้เหมาะสมกับร้านอาหารทุกขนาดจริงหรือ?
กลับมาในส่วนของธุรกิจร้านอาหารที่กำลังร่อแร่เข้าขั้นโคม่า เนื่องจากเจอมาตรการปิดล็อกคุมความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค ประชาชนไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ ทำให้ร้านอาหารบางแห่งที่ซบเซาอยู่แล้ว ต้องปิดตัวลง เนื่องจากแบกรับต้นทุนที่ปูดเพิ่มขึ้นมาไม่ไหว เพราะวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารส่วนใหญ่เป็นของสด มีอายุการเก็บรักษาที่สั้น เกิดการเน่าเสียได้ง่าย หากจะหันหน้าไปพึ่งพาบริการเดลิเวอรีก็อาจจะไม่เหมาะกับร้านบางขนาด ด้วยเป็นเพียงรถเข็นข้างทางเล็กๆ ไร้ดาวการันตี หรือมีราคาอาหารที่ไม่สูงนัก เช่น หมูปิ้งไม้ละ 5 บาท ผลไม้ตัดแต่งถุงละ 20 บาท ถ้าจะต้องพาตัวเองเข้าสู่บริการเดลิเวอรีก็คงสู้ค่าคอมมิชชั่นที่ทางผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียกเก็บไม่ไหว แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ร้านอาหารขนาดเล็ก ร้านอาหารขนาดกลางถึงใหญ่หลายที่ก็พบเจอกับปัญหาเหล่านี้เช่นกัน บางแห่งถึงขั้นติดป้ายปิดให้บริการชั่วคราว เพราะต่อให้เพิ่มบริการเดลิเวอรีแล้วก็พบว่ารายได้ที่เคยมั่งคั่งกลับหดหายไปหลายเท่าตัว ยกตัวอย่างภัตตาคารหรู 5 ดาว ที่ขายเมนูที่เน้นใช้วัตถุดิบราคาสูง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ หูฉลาม ปลาดิบ เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ หรือแม้แต่อาหารยอดนิยมอย่างโอมากาเสะที่เหมาะกับการรับประทานทันที เพื่อความสดอร่อยของวัตถุดิบ ก็ดูจะไม่เหมาะกับการส่งแบบเดลิเวอรีเท่าไรนัก ส่งผลให้เจ้าของกิจการเลือกตัดสินใจพักการให้บริการยาวไปแบบไม่มีกำหนด

ไม่เพียงแค่ธุรกิจร้านอาหาร แต่คลินิกเสริมความงาม ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากกัน เนื่องด้วยตัวยาที่ใช้อาจมีอายุการใช้งานที่จำกัด แย่ไปกว่านั้นคือธุรกิจประเภทนี้ไม่สามารถเปิดบริการเดลิเวอรีได้ด้วยซ้ำ เมื่อต้องเจอการล็อกพื้นที่แบบนี้พวกเขาจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไร ทางออกอยู่ที่ไหน จะมีมาตรการเยียวยาธุรกิจเหล่านี้ให้พอไปต่อได้หรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วประชาชนก็ต้องดูแลกันเองเหมือนที่เคยทำมาตลอดตั้งแต่การระบาดรอบแรก?

สุดท้ายทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการสามารถนำพาธุรกิจให้ไปต่อได้ พร้อมกับขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันดูแลสุขภาพ หมั่นล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องออกไปในที่สาธารณะ ที่สำคัญอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ช่วยกันอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้มีรายได้ เพราะนอกจากจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดแล้ว ยังได้ช่วยเหลือลูกจ้างให้ยังมีงานทำ มีรายได้จุนเจือครอบครัว เพราะสุดท้ายแล้วก็มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่ช่วยเหลือกันเอง… เราจะต้องเป็นผู้รอดจากวิกฤตอันเลวร้ายนี้ไปด้วยกัน สู้ๆ ค่ะทุกคน เป็นกำลังใจให้นะคะ ^^

BTimes