มาถึงแล้ว! ยุคดอกเบี้ยขึ้นของจริง เมื่อแบงก์ยกทัพขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เด้งรับ กนง.

386
0
Share:

มาถึงแล้ว! ยุค ดอกเบี้ย ขึ้นของจริง เมื่อแบงก์ยกทัพขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เด้งรับ กนง.

มาถึงแล้ว! ยุคดอกเบี้ยขึ้นของจริง เมื่อแบงก์ยกทัพขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เด้งรับ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามนัด หมัดเด็ดน็อกวงการสินเชื่อ กู้ใหม่ต้องคิดหนัก

ถือได้ว่าไม่หักปากกาเซียน เพราะเป็นไปตามคาดที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.25% ต่อปี ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.50% ต่อปี ในการประชุมนัดแรกของปีนี้

เป็นไปตามคาด เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากแรงหนุนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีมาทั้งแบบ VIP อุ้ย! มาแบบส่วนตัว หรือจะแบบกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งก็ช่วยหนุนให้การบริโภคภาคเอกชนตื่นขึ้นตามไปด้วย อานิสงส์ต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน การจับจ่ายใช้สอย ขณะที่การส่งออกสินค้ากลับมีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ แต่ก็จะฟื้นตัวในปี 2567 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ขณะที่ภาพรวมเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มดูดี การชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนก็คาดว่าจะดีขึ้นไปตามๆ กัน

และตอนนี้ก็ถึงคราบรรดาสถาบันการเงิน พร้อมที่จะเร่งเครื่องปรับดอกเบี้ยเงินกู้กันแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ยังคงตรึงไว้ระยะหนึ่ง พอถึงจังหวะที่ กนง. ปรับดอกเบี้ยนโยบายก็หมดเวลาอัดอั้นสักที ล่าสุดมีแบงก์ไหนปรับขึ้นแล้วบ้าง BTimes ได้รวบรวมมาฝากแล้ว เช็กได้เลย

1. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จากอัตราปัจจุบันที่ 6.15% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.40% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จาก 5.75% ต่อปี เป็น 6.00% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 5.90% ต่อปี เป็น 6.15% ต่อปี

2. ธนาคารกรุงเทพ
ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.15-0.20% และดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05% เป็นรายแรก มีผลตั้งแต่ 27 มกราคม 2566 ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 1.50% ต่อปี
โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับขึ้นทั้ง 3 ประเภท ดังนี้
– อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับเพิ่มขึ้น 0.20% ต่อปี เป็น 6.45% จาก 6.25%
– อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เพิ่มขึ้น 0.15% ต่อปี เป็น 6.90% จาก 6.75%
– อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เพิ่มขึ้น 0.15% ต่อปี เป็น 6.80% จาก 6.65%

3. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR 0.10%-0.20% ต่อปี ดังนี้
– อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จาก 6.520% เป็น 6.620% ต่อปี
– อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) จาก 6.150% เป็น 6.350% ต่อปี
– อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 6.745% เป็น 6.895% ต่อป
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

4. ธนาคารกสิกรไทย
ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำให้สูงขึ้น 0.10%-0.25% โดยทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยเพียง 0.10% และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทอื่น ตามรายละเอียดดังนี้
– อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับจาก 6.37% เป็น 6.57%
– อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับจาก 6.74% เป็น 6.89%
– อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับจาก 6.50% เป็น 6.60%
มีผลในวันที่ 30 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

5. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท เพิ่มขึ้น 0.125%-0.25% ต่อปี ดังนี้
– อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) ปรับเพิ่มขึ้น 0.125% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 6.50% เป็น 6.625% ต่อปี
– อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 4.875% เป็น 5.125% ต่อปี
– อัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 6.25% เป็น 6.50% ต่อปี
มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

6. ธนาคารออมสิน
– อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.495% ต่อปี
– อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับเพิ่มเป็น 6.245% ต่อปี
– อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ปรับเป็น 6.400%
มีผลตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งล่าสุดของธนาคารออมสิน เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 หรือเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว

7. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี แบงก์
ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ หรือเอ็มแอลอาร์ อีก 0.25% มีผลตั้งแต่ 25 มกราคม 2566 ส่งผลให้เอ็มแอลอาร์ปรับขึ้นจาก 6.75% เป็น 7.00% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ชนิดอื่นยังคงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนธนาคารออมสิน ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกชนิดอีก 0.25% เช่นกันตามมติแบงก์รัฐ

ผลที่ตามมาต่อจากนี้ คือผู้บริโภคที่กู้เงินธนาคารมาใช้ หรือลงทุนต้องผ่อนสูงขึ้น โดยจะมีรายจ่ายด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เช่น ต้องจ่ายค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนคอนโด สูงขึ้น และทำให้มีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เมื่อมีการใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง การจะสร้างแรงจูงใจให้มีการฝากธนาคารมากขึ้นโดยโฆษณาว่าได้ดอกเบี้ยสูง อาจทำได้ยาก

อาจจะรวมไปถึงการส่งออก เพราะต้นทุนต่างๆ มีราคาแพงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าขึ้น เมื่อราคาสินค้าแพงกว่าประเทศคู่แข่งขัน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ก็จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศน้อยลงตามมาก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมเดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม 2566 ครั้งละ 0.25% และยังคาดด้วยว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ เพื่อให้นโยบายการเงินค่อยๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.4% จากแรงส่งสำคัญของภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเราก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป…

BTimes