6+1 ประเด็นฉ่ำประจำปี 2566 สะเทือนวงการเศรษฐกิจ ธุรกิจ ลงทุน ปากท้องประชาชน มีอะไรบ้าง โซะเลย!!

1074
0
Share:

6+1 ข่าว ประเด็นฉ่ำประจำปี 2566 สะเทือนวงการ เศรษฐกิจ ธุรกิจ ลงทุน ปากท้องประชาชน มีอะไรบ้าง โซะเลย!!

ในช่วงปี 2566 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายธุรกิจ หลายวงการ ต่างสะบักสะบอมกับพิษเศรษฐกิจมาอย่างหนักหน่วง ชนิดที่ไม่ว่าจะองค์เทพใดที่ว่าศักสิทธิ์ก็คงช่วยไม่ไหว เพราะคิวยาวเกิน

โดยในแวดวงเศรษฐกิจบ้านเราก็มีหลายๆ ข่าวที่เป็นประเด็นร้อน ทอล์คออฟเดอะทาวน์อยู่หลายเรื่อง BTimes จึงจะนำมารวบรวมและสรุปไว้ให้ได้อ่านกัน 6 เรื่องด้วยกัน

1. “ลิซ่า” ปฏิเสธต่อสัญญาค่ายวายจี ป่วนราคาหุ้นดิ่ง

ลิซ่า แบล็คพิ้งค์ หรือลลิษา มโนบาล หนึ่งในสมาชิกวงแบล็คพิ้งค์ ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปเชื้อสายไทยแท้ ที่ไปโด่งดังเป็นพลุแตกที่ประเทศเกาหลีใต้ ร่วมกับเพื่อนๆ ในวงอีก 3 คน และยังโด่งดังไปยังระดับโลก เพราะล่าสุดทางกินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด ได้ยืนยันสถิติอย่างเป็นทางการว่าเธอคือศิลปินเดี่ยวเค-ป็อปคนแรกที่สร้างสถิติได้มากที่สุด นอกจากนี้ลิซ่ายังนับว่าเป็นศิลปินระดับโลกที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อแฟนคลับทั่วโลกของเธอ

โดยข่าวที่สร้างประเด็นร้อนฉ่าเอามากๆ ก็คือ สตาร์ นิวส์ สื่อบันเทิงชื่อดังของประเทศเกาหลีใต้ รายงานเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาว่า วายจี เอนเทอร์เทนเม้นท์ ซึ่งเป็นค่ายเพลงเค-ป๊อปชื่อดังระดับโลก และเป็นต้นสังกัดวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังอย่างแบล็คพิ้งค์ เปิดเผยว่า ลิซ่า หนึ่งในสมาชิกวงแบล็คพิ้งค์ (BlackPink) ปฏิเสธการต่อสัญญา 2 ข้อเสนอ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากถึง 50,000 ล้านวอน หรือ 37.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,353 ล้านบาทกับวายจี เอนเทอร์เทนเม้นท์

ซึ่งข่าวดังกล่าวก็ได้สะเทือนไปยังหุ้นของวายจี ทำให้ราคาหุ้นของบริษัท วายจี เอนเทอร์เทนเม้นท์ ถูกเทขายอย่างหนาตาตั้งแต่เปิดตลาดหุ้นเกาหลีใต้ในเช้าของวันที่ 15 กันยายน โดยมีราคาดำดิ่งถึง -9% ทำสถิติราคาหุ้นทรุดลงในรอบ 1 วันที่มากสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2022 หรือในรอบเกือบ 1 ปี เลยทีเดียว

อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก 👉 https://shorturl.asia/gUL5J

2. ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ทรูและดีแทค กอดคอ ควบรวมกิจการขึ้นแท่น ดีลใหญ่ทะลุวงการ

เป็นอีกข่าวที่สะเทือนทั้งวงการธุรกิจ ที่ทรูและดีแทค ตกลงควบรวมกิจการกันอย่างไม่มีอะไรกั้น กลายเป็นผู้ให้บริการสัญญาณมือถือที่มีลูกค้ามากที่สุดในประเทศไทย ล่าสุด ทรูและดีแทค ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมกัน 51.37 ล้านราย แบ่งเป็นระบบเติมเงิน 35.7 ล้ายราย และระบบรายเดือน 15.6 ล้านราย ขณะที่ธุรกิจออนไลน์มีผู้ใช้บริการรวม 3.7 ล้านราย แม้ว่าที่ผ่านจะมีข่าวคราวการคัดค้านของทั้งสองค่ายว่าจะเป็นการทำธุรกิจแบบผูกขาด กลายเป็นคดีฟ้องร้องกันระหว่างทรู ดีแทค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
แต่ในที่สุด 2 บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือก็เข้าควบรวมกิจการได้สำเร็จ โดยกลายเป็นดีลใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคมของไทย โดยที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค โดยมองว่าไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดําเนินการตามประกาศฉบับปี 2561

แต่เมื่อไม่นานมานี้เชื่อว่าหลายคนคงจะพอได้เห็นข่าวหรือกระแสบนโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการร้องเรียนเรื่องคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยผลสำรวจ พบว่าปัญหาใหญ่สุด 81% คือสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก

ทว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบปัญหาตามที่มีการร้องเรียนในทุกกรณี และจากการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณยังไม่พบการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของผู้ให้บริการทุกเครือข่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก 👉 https://bit.ly/3QzVnxe

3. รัฐบาลเศรษฐากับนโยบาย “แจกเงินหมื่นผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต”

ยังคงเป็นที่จับตาเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลที่นำโดย “นายเศรษฐา ทวีสิน” ที่ครั้งพรรคเพื่อไทยหาเสียงได้ยกขึ้นเป็นนโยบายเรือธง ซึ่งก็เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงความคุ้มค่าของนโยบาย แหล่งที่มาของเงินจะเอาจากไหนมาแจก หรือแม้แต่บางส่วนมองว่ารัฐบาลอาจจะทำไม่สำเร็จ

ซึ่งที่ผ่านมาหนทางการคลอดนโนบายออกมาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด อย่างที่รู้ๆ ว่างบประมาณที่เหลือไว้จากรัฐบาลชุดเก่ามีจำกัดจำเขี่ยซะเหลือเกิน จนในที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจกู้ โดยการเสนอ พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ด้วยความหวังจะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่จนถึงตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขผู้รับเงินดิจิทัล

รัฐบาลยังยืนยันด้วยว่าไม่ได้กู้จนกระทบหนี้ เพราะดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ตามมาตรา 53 ที่ระบุว่าการกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติใน พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังยกร่างเป็นกฎหมายเฉพาะ ซึ่งก็คาดว่าในเร็วๆ นี้ จะได้รับคำตอบกลับมา จากนั้นจึงเริ่มขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามขั้นตอน เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอไปตามหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ต่อไป ซึ่งรัฐบาลก็รับปากว่านโยบายจะคลอดได้ในช่วงปี 2567 นี้แน่นอน

แต่ก็ยังไม่วายจะยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับการกู้เพื่อนำงบมาใช้โครงการ และยังมีการตั้งคำถามด้วยว่าถึงรัฐจะผลักดันกฎหมายจนสามารถเข้าสู่สภาได้ แต่กฎหมายไม่ผ่านรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดอย่างไรต่อไปด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก 👉 https://bit.ly/46dTjiW

4. ค่าไฟแพงกระฉูด สูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 5 บาท

เมื่อช่วงหน้าร้อนหรือช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากอากาศที่ร้อนแล้ว ค่าไฟก็ร้อนแรงพอกัน เพราะอัตราค่าไฟในบ้านเราทำเอาตกใจเอามือทาบอกกันไปตามๆกันเมื่อเห็นบิลค่าไฟในตอนนั้น เพราะค่าไฟในงวดเดือนมกราคม – เมษายน อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ทำเอา, ค่าไฟแพง ขึ้นเทรนบนโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง เพราะค่าไฟแพงขึ้นหลายเท่าตัว ถึงจะเข้าใจได้ว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดประจำปีและจะมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดือนอื่นๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักเพราะอุณหภูมิภายนอกสูง แต่สัดส่วนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากกว่าเท่าตัวก็ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัดส่วนของ “ค่า FT” ที่คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 3 ของค่าไฟทั้งหมดด้วยซ้ำไป คนที่แบกภาระจริงๆ นั้นก็หนีไม่พ้นประชาชน

โดยตลอดทั้งปี 2566 ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด โดยราคาที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศออกมาทุกๆ 4 เดือน มีราคาเกิน 4 บาทต่อหน่วยทุกครั้ง โดยปัจจัยหลักมาจาก 2 ส่วน คือ ต้นทุนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกสูงขึ้น และภาระหนี้ค่า Ft ค้างจ่ายที่ต้องทยอยคืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นจาก 3.99 บาทต่อหน่วย เป็น 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง นั้น กฟผ.ประเมินว่าภาระค่า Ft ค้างจ่ายที่ต้องแบกไว้ก่อน ในปี 2567 จะอยู่ที่ 137,000 ล้านบาทและจะเริ่มทำให้ กฟผ. มีปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน หากรัฐไม่มีมาตรการอื่นใดเข้ามาช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันค่าไฟยังถือเป็นต้นทุนสำหรับหลายอุตสาหกรรม และเมื่อค่าไฟขึ้นในอนาคตราคาข้าวของ สินค้า บริการหลายอย่างก็เตรียมจะปรับขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนที่เตรียมก้าวขามาไทยอาจจะชักเท้าออกก่อน ถ้ามองเห็นต้นทุนสูงทั้งค่าแรง พลังงานในบ้านเรา ซึ่งเป็นข้อกังวลของฟากฝั่งเอกชนที่พูดถึงอยู่บ่อยๆ หรือแม้กระทั่งยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่ค่าไฟถูกกว่า

เรื่องค่าไฟแพง ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวและเชื่อว่าหลายคนสนใจและยังติดตามต่อไปว่า หากพ้นจากงวดที่รัฐไม่ได้ตรึงราคาไว้แล้ว อนาคตจะพุ่งกระฉูดขึ้นเหมือนอย่างช่วงที่ผ่านมาหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก 👉 https://bit.ly/47GHMu7

5. หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งไม่หยุด หนี้เสียไม่ลด เพราะคำว่า “ของมันต้องมี”

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยพบว่ามีอยู่ถึง 13.45 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียทะลุ 1 ล้านล้านบาท และสถานการร์มีแนวโน้มจะแย่ได้อีก เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และทั่วถึง อีกทั้งบรรดาแบงก์ที่มีมาตรการช่วยลูกหนี้เมื่อช่วงโควิด ต่างก็มีการชักคืนมาตรการช่วยเหลือออกตามแผน

ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์เองก็ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วง เกี่ยวกับภาวะหนี้เสียของคนไทย โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้เงินจากแหล่งหนี้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในกลุ่มแรงงานตอนต้น ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ระหว่าง 50–59 ปี อีกทั้งกลุ่มวัยแรงงานตอนต้นที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 4.1% ต่อปี หรือกลุ่มเจนเนอเรชันวาย มีพฤติกรรมการใช้จ่ายไปกับทัศนคติที่ว่า “ของมันต้องมี” ทำให้การก่อหนี้เพิ่มขึ้น และขาดการวางแผนการเงินสำหรับอนาคต

ปัญหาหนี้แม้จะกระจุกอยู่ในกลุ่มครัวเรือนแต่ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ ไปทำลายระบบฐานเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเป็นหนีก็ทำให้กำลังซื้อหด การใช้จ่ายก็ขับเคลื่อนไปได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการประกาศนโยบายแก้หนี้ของรัฐบาลเศรษฐา ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้เริ่มแล้วจากการให้ลูกหนี้ที่อยู่นอกระบบลงทะเบียนแก้หนี้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ความช่วยเหลือกันต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก 👉 https://shorturl.asia/2YdAc

6. ราคาทองคำแพงพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ – ปรากฎการณ์ร้านทองแตก

นักเล่นทองหรือใครถือกองทุนทองคำ น่าจะถูกใจไม่น้อยกับข่าวนี้ เพราะเมื่อช่วงต้นเดือน ธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ราคาทองคำตลาดโลกได้ทำลายสถิติ ปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ โดย Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ระดับ 2,089.70 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +52.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +1.6% ส่งผลทำสถิติราคาทองคำล่วงหน้าปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ เนื่องจากทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์เดิมที่ระดับ 2,072.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากรัสเซียเปิดฉากทำสงครามกับยูเครน ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 25–29 พฤศจิกายน 2566 ส่งผลหยุดราคาทองคำปิดขึ้น 5 วันติดกันรวม 56.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +3.70%

โดยก่อนหน้านึ้ ในเดือนตุลาคม พบว่าราคาทองคำตลาดโลกพุ่งทะยานขึ้นถึง 8% โดยนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่กลุ่มฮามาสติดอาวุธเปิดฉากโจมตีอิสราเอลจนนำไปสู่สงครามรุนแรงในรอบ 75 ปีของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ราคาทองคำโลกพุ่งทะยานขึ้นถึง 190.70 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เนื่องจากราคาทองคำตลาดโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 1,809.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติราคาต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

เมื่อกลางเดือนเมษายนปี 2566 ผ่านไป ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาปิดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 2,048.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากวิกฤตธนาคารเอสวีบี และเอสบี ปิดกิจการและถูกควบคุมโดยทางการสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปในปี 2022 ผ่านไปเมื่อเดือนมีนาคม พบว่าราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากการที่ตลาดมั่นใจว่าเฟดจะจบรอบขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐสักทีนั่นเอง

ขณะที่ราคาทองคำในบ้านเราก็เคยมีปรากฎการณ์ร้านทองแตกมาแล้ว โดยในช่วง 4 ธันวาคม 2566 สมาคมค้าทองคำ ได้รายงานราคาขายปลีกทองในประเทศ ราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 34,200 บาท ขายออกบาทละ 34,300 บาท ส่วนทองรูปพรรณ รับซื้อเข้าบาทละ 33,579.40 บาท ขายออกบาทละ 34,800 บาท ปรับขึ้นสูงทำลายสถิติช่วง 20 ตุลาคม ที่มีสงครามอิสราเอลด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ถือว่าเป็นสถิติสูงสุดขณะนั้น ด้วยราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 34,150 บาท ขายออกบาทละ 34,250 บาท และทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 33,533.92 บาท ขายออกบาทละ 34,750 บาท

โดยปัจจัยหนุนก็มาจากดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง และบอนด์ยีลด์สหรัฐลดลง จากการคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยุติการขึ้นดอกเบี้ย และมีแนวโน้มว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยภายในกลางปีหน้า

บจ.ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส ยังคาดการณ์ด้วยว่าในปีหน้าเราอาจได้เห็นราคาทองคขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ภายในครึ่งปีแรกของปี 67 นี้อีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก 👉 https://bit.ly/3GqayTB

และสุดท้าย +1. หมีตะปบหุ้นไทย จบสิ้นปีปิดที่ 1,415.85 จุด -15.15% ต่างชาติเทขายเกือบ 2 แสนล้าน กลายเป็นตลาดหุ้นยอดแย่ในปีนี้

อีก 1 ประเด็นสเปเชียล ที่แถมให้สำหรับคอหุ้น และนักลงทุน ที่ตลอดทั้งปีช่างห่อเหี่ยวหัวใจ เพราะตลาดดูจะซึมยาวมาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยท้าทายตลอดทั้งปีนี้ ทั้งปัจจัยภายนอกอย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และประเด็นต่างๆ ในประเทศที่กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย หรือ SET Index ปรับตัวลดลงจากต้นปีกว่า 252.81 จุด หรือ -15.15% มาอยู่ที่ 1,415.85 จุด โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 1,691.41 จุด ในวันที่ 10 มกราคม 2566 และปรับตัวลดลงต่ำสุด 1,357.97 จุด ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566

ปัจจุบันตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ระดับ 1.73 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราส่วน P/E ที่ระดับ 18.35 เท่า และมีอัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 3.34% ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 76.86 บาท

ข้อมูลมูลค่าซื้อขายแบ่งตามกลุ่มนักลงทุน ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2566 นับตั้งแต่ต้นปี 2566 พบว่านักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 196,461.78 ล้านบาท คิดเป็น 52.30% ของมูลค่าซื้อขายรวม นักลงทุนภายในประเทศซื้อสุทธิ 120,860.39 ล้านบาท คิดเป็น 31.65% ของมูลค่าซื้อขายรวม นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 81,059.18 ล้านบาท คิดเป็น 8.40% ของมูลค่าซื้อขายรวม บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ -5,457.80 ล้านบาท คิดเป็น 7.65% ของมูลค่าซื้อขายรวม

ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยค่อยๆ ถดถอยลงเรื่อยๆ จากปัจจัยบั่นทอน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการทำธุรกรรม “Naked Short Selling” ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยหรือไม่ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยืนยันมาตลอดว่าไม่มีธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น และไม่ยอมให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้นักลงทุนจึงได้แต่ตั้งข้อสงสัย

รวมทั้งประเด็นหุ้นฉาวที่สะเทือนวงการตลาดหุ้นอย่างมาก ก็คงหนีไม่พ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือหุ้น STARK ที่ตกแต่งบัญชี สร้างความเสียหายรวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท สำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก เมื่อ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือหุ้น JKN เจ้าของเวทีประกวด “มิสยูนิเวิร์ส” เกิดปัญหาการชำระคืนหนี้หุ้นกู้ จนล่าสุดบริษัทได้ยื่นคําร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ จนตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนบั่นทอนความมั่นใจนักลงทุน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์เซทสมาร์ต (SETSMART) เผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเทียบเท่ากับจีนและสิงคโปร์ในปีนี้ (YOY) ที่ 15.48% โดยเซ็กเตอร์ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด คืออุตสาหกรรมลบ 28.34% โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปีนี้กลายเป็นตลาดหุ้น “ยอดแย่” เนื่องจากเป็นการปรับเปลี่ยน (Rotation) จากปี 2565 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นหลบภัยของบรรดานักลงทุน ประกอบกับมีแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติจากการนำกำไรไปซื้อสินทรัพย์กลุ่มอื่นและความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้งแนวโน้มการใช้จ่ายทางการคลังที่เกินตัวก็มีผลทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดหดตัวลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก 👉 https://bit.ly/4aDoQ1i

และทั้งหมดนี้ก็เป็น 6 + 1 ประเด็นร้อนฉ่าวิจารณ์ฉ่ำที่ BTimes ได้รวบรวมมาสรุปให้แฟนๆ ได้อ่านกัน ซึ่งแต่ละเรื่องยังเป็นประเด็นที่น่าสนใจและยังต้องรอ EP.1 2 3 4 ต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน…

BTimes