Food Delivery ทางเลือก ทางรอด หรือทางตัน

1973
0
Share:

Food Delivery ทางเลือก ทางรอด หรือทางตัน

เมื่อโรคโควิด-19 บีบบังคับ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างกะทันหัน สอดรับกับนโยบาย ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ร้านอาหาร ผู้ประกอบการหลายเจ้าไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ ต่างวิ่งเข้าใส่ Food Delivery ทางเลือกที่เป็นทางรอดในยุคโรคระบาด

Food Delivery ทางเลือกที่กลายเป็นทางรอด

ในช่วงก่อนโควิด-19 ร้านอาหารหลายแห่งอาจจะแบ่งสัดส่วนการขายออฟไลน์ต่อออนไลน์เป็น 90:10 แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิดเข้ามา หลายๆ ร้านกลับลำธุรกิจหันไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แทบจะเรียกได้ว่าออนไลน์คือช่องทางที่สร้างรายได้หลักให้กับธุรกิจเกือบ 100% ดันให้แอปพลิเคชัน Food Delivery กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่หลายร้านเลือกใช้ ยึดแนวคิด ‘ถ้าลูกค้าไม่มาหา เราก็ต้องไปหาลูกค้าเอง ดังนั้นเราต้องเลือกช่องทางให้ลูกค้ามองเห็นสินค้าของเราให้ได้มากที่สุด’

ทางตันพ่อค้าแม่ขายกับการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา

รู้ไหมคะว่าแอปพลิเคชันที่เราสั่งอาหารมีการเก็บ GP จากร้านค้าสูงถึง 25-35% เพื่อนำไปเป็นค่าดำเนินการ ค่าคอมมิชชัน ค่าโฆษณา และค่าจ้างไรเดอร์ ดูเผินๆ เหมือนจะ วิน-วิน ทุกฝ่าย แต่ วิน-วิน แน่แล้วหรือ? เพราะเมื่อร้านค้าโดนหักค่า GP ก็แทบจะมองไม่เห็นกำไรจากการขาย ส่งผลให้บางร้านต้องแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาอาหารในแอปฯ บางร้านก็แก้ด้วยการลดปริมาณลง ไม่ใช่แค่นั้นยังมีรายจ่ายอื่นๆ เช่น ค่าแพคเกจจิ้ง ที่ผู้ประกอบการต้องเสียเงินซื้อเพิ่ม เพื่อนำมาใส่สินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยมากมายที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะการส่งแบบเดลิเวอรี่ไม่ได้เหมาะสมกับอาหารทุกประเภท แน่นอนว่าสุดท้ายผลกระทบก็มาตกอยู่ที่ผู้บริโภคนั่นเองค่ะ

คำแนะนำที่เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร

ผู้ประกอบการร้านอาหารในยุคนี้ควรทดลองใช้เทคโนโลยี และระบบการจัดการหลังบ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารธุรกิจร้านอาหาร เพราะการลงทุนในส่วนนี้ใช้งบประมาณไม่สูงมาก แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดี ทั้งยังช่วยลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำธุรกิจร้านอาหารอีกด้วยค่ะ

แม้การทำร้านอาหารด้วยระบบเดลิเวอรี่ในยุคโรคระบาดนี้จะยาก ต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังใจมหาศาล แต่เชื่อว่าถ้าทุกคนผ่านไปได้ ธุรกิจของคุณจะอยู่รอดปลอดภัยแน่นอนค่ะ

BTimes