ส่องแนวคิด “MAMA Station” แบรนด์สุด “เก๋า” สู่โมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพเจาะกลุ่มเจนใหม่

1000
0
Share:

ส่องแนวคิด “MAMA Station” แบรนด์สุด “เก๋า” สู่โมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพเจาะกลุ่มเจนใหม่

“มาม่า” นับเป็นอาหารที่แทนสัญลักษณ์สินค้าราคาประหยัด ที่กินง่าย ปรุงง่าย ใครทำก็อร่อย หรือมีติดบ้านไว้เป็นเมนูกันตายแบบไม่ต้องอาศัยสกิลการทำอาหารก็ทำได้รอด

โดยเจ้าของแบรนด์ ก็คือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์จำกัด (มหาชน) ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายมาม่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ด้วยทุนจดทะเบียน 6 ล้านบาท ซึ่งนับว่าดำเนินธุรกิจในไทยมามากกว่า 50 ปี จากการสร้างแบรนด์มาอย่างยาวนาน ทำให้คนไทยเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปติดปากกันว่า “มาม่า” มาจนถึงทุกวันนี้

และเมื่อไม่นานมานี้ “มาม่า” ได้เปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ร้าน “มาม่า ช็อป” เพื่อเป็นการขยายแบรนด์ให้คนรุ่นใหม่ หรือเด็กๆ เจเนอเรชั่นใหม่ๆ ได้รู้จักมากขึ้น โดยมาในรูปแบบร้านอาหารขายเมนูเส้นจากผลิตภัณฑ์มาม่าโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในอดีตมาม่าอาจจะเป็นอาหารยังชีพที่ราคาสุดแสนถูก เพื่อนยากมนุษย์ชาวไทยในยามสิ้นเดือนที่ค่าใช้จ่ายร่อยหรอ แต่ปัจจุบัน มาม่ากลายเป็นเมนูพิเศษ ที่ร้านดังนำไปใช้เป็นเมนูเด็ดประจำร้าน เช่น มาม่าโอ้โห ของร้าน “เจ๊โอว” ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกัน หรือสามารถกินได้ทุกมื้อที่หิว ไม่ว่า เช้า สาย บ่าย ดึก รวมถึงยังสามารถนำไปรังสรรค์เป็นเมนูอื่นๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นจึงได้เกิดเป็นแนวคิดในการทำร้าน “มาม่า ช็อป” นั่นเอง

ภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่นี้ “มาม่า ช็อป” ได้จับมือกับผู้ประกอบการพันธมิตร และปรับแบรนด์ใหม่มาเป็น “MAMA Station” (มาม่า สเตชั่น) ทดลองเปิดร้านต้นแบบไปแล้ว 2 สาขา เป็นการคัดเลือกพาร์ทเนอร์ ผู้สนใจลงทุน ที่มีความพร้อมเรื่องทำเลและเงินลงทุนในการทดลองเปิดให้บริการ ซึ่งใช้เงินลงทุนของพาร์ทเนอร์ทั้งหมด โดยมาม่าได้ทำสัญญาให้ใช้แบรนด์ “มาม่า” มาเป็นส่วนประกอบในร้านอาหารได้

พาร์ทเนอร์ผู้ลงทุนเองก็จะมีธุรกิจร้านอาหารเป็นของตัวเอง โดยใช้จุดขายจากเมนูมาม่าเรียกลูกค้าเข้ามาซื้อ ส่วนบริษัทไม่ต้องลงทุนทำร้านเอง แต่จะมีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพทุกสาขา โดยต้องได้มาตรฐานของมาม่า นั่นคือ ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ความสะอาด รสชาติของอาหาร ที่สำคัญจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ในส่วนของเมนูอาหาร เจ้าของร้านสามารถคิดเมนูขึ้นมาให้แตกต่างกันตามทำเล และกลุ่มลูกค้าในโซนนั้นๆ ได้ตามสบาย

สิ่งที่น่าสนใจของโมเดลธุรกิจของมาม่านั่นคือการสร้างพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพมาเป็นผู้ลงทุนร้าน เป็นไปตามหลักคิดของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ว่าด้วย ‘คิดใหญ่ ทำเล็ก Scale up ให้เร็ว’ ผนึกกับศักยภาพของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง จะยิ่งเป็นกำลังเสริมให้ผู้ประกอบการโตได้ด้วยมาตรฐานที่มาม่าช่วยคุมให้

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์มาม่า เล่าว่า เป้าหมายของโมเดล MAMA Station ก็เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของคนรุ่นใหม่ ให้คนเห็นในมุมต่างๆ ของมาม่ามากขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และภาพลักษณ์มาม่าว่าไม่ได้เป็นอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบต่างๆ ให้ดูน่ารับประทาน และขายในราคาที่ไม่แพงมากได้

ก่อนหน้านี้มาม่า และพาร์ทเนอร์ได้ประเดิมเปิดสาขาแรกผ่านชื่อร้าน “มาม่า สเตชั่น อร่อย” ลาดพร้าว โดยมีเมนูมาม่ารสชาติต่างๆ เป็นวัตถุดิบหลัก เสริมทัพด้วยท็อปปิ้งที่หลากหลายให้เลือกใส่ตามใจชอบ เช่น ชีส ลูกชิ้น เต้าหู้ปลา ปูอัด เบคอน หมูบด ผัก ไข่ สนนราคาเริ่มต้นเพียง 69 บาท รวมถึงมีเมนูติ่มซําขายคู่กันในราคาชุดละ 49 บาทอีกด้วย

ส่วนสาขาที่ 2 ร้าน MAMA Station เพชรเกษม 98 ที่ใช้เส้นมาม่ามาปรับเมนูเน้นสไตล์อาหารไทย กับเมนูมาม่าหมูสับทรงเครื่อง มาม่าต้มยำทรงเครื่อง มาม่าต้มยำทะเลน้ำข้น มาม่าผัดไข่เค็มแห้ง หรือสไตล์อาหารเกาหลี มาม่าฮอทโคเรียนผัดแห้ง มาม่าหม้อไฟเกาหลี สนนราคาเริ่มต้นเพียง 49 บาท รวมถึงมีของกินเล่นเป็นไก่ทอดมาม่าจานละ 39 บาท

ต่อจากนี้ มาม่ายังวางแผนเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก นั่นก็คือการให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักมาม่า ดังนั้นแผนของโมเดล MAMA Station ขั้นต่อไปคือเตรียมจะเปิดร้านใหม่เน้นตั้งในทำเลสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงหน้าโรงเรียน สวนสนุก และย่านสถานบันเทิง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยในปีนี้คาดว่าจะเปิดให้ได้ประมาณ 5-6 สาขา

ถ้าต่อจากนี้ “มาม่า” จะกลายเป็นอีกผู้เล่นในตลาดสุกี้ หม้อไฟก็คงจะไม่แปลก เพราะมาม่าจะไม่ใช่เมนูที่อยู่แต่ในซองอีกต่อไป ด้วยเอกลักษณ์รสชาติไทยๆ ของมาม่าจะกลายมาเป็นเมนูอาหารไทยอีกหนึ่งเมนูที่เป็นซอฟท์พาวเวอร์ แข่งกับหม้อไฟเกาหลี ญี่ปุ่นได้เลย แถมยังเป็นการรักษาไว้ซึ่งแบรนด์สุดเก๋าของไทย ไม่ให้เลือนหายหรือกลายเป็น “ตำนาน” ไปง่ายๆ เมื่อมีผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่…

BTimes