“Threads” แอปฯ น้องใหม่ม้ามืด เปิดศึกท้าชิงบัลลังก์คิงส์โซเชียลกับ “Twitter” ลุ้นเขี่ยนกฟ้าตกชั้น

1262
0
Share:

“Threads” แอปฯ น้องใหม่ม้ามืด เปิดศึกท้าชิงบัลลังก์คิงส์โซเชียลกับ “Twitter” ลุ้นเขี่ยนกฟ้าตกชั้น ส่อดรามามหากาพย์เปิดแอปฯ เลียนแบบดึงยอดผู้ใช้งาน

“Threads” แอปฯ น้องใหม่ม้ามืด เปิดศึกท้าชิงบัลลังก์คิงส์โซเชียลกับ “Twitter” ลุ้นเขี่ยนกฟ้าตกชั้น ส่อดรามามหากาพย์เปิดแอปฯ เลียนแบบดึงยอดผู้ใช้งาน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมไม่ว่าจะเป็นในบ้านเรา หรือต่างประเทศ ก็มีอยู่เพียงไม่กี่แอปฯ ยกตัวอย่างที่นิยมในไทยเองก็จะมี Facebook Twitter Instagram และ TikTok ที่ขยันป้อนคอนเทนต์กันทุกวัน

หากจะย้อนกลับไปเมื่อช่วง 20 กว่าปีที่แล้ว ถ้าใครเกิดทันก็จะน่าจะพอนึกออกกับแพลตฟอร์ม Hi5 ที่เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในปี 2004 ปีเดียวกับที่ Facebook เปิดตัวครั้งแรก แถมช่วงนั้นยังได้รับความนิยมก่อน Facebook ด้วยซ้ำ สาเหตุที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้นก็เพราะว่าสามารถปรับแต่งแบกกราวด์ สีกล่องข้อความ เคอเซอร์เปลี่ยนรูปร่างได้ตามความชอบ และยังใส่เพลงเป็นแบกกราวด์ได้อีกด้วย ถือเป็นลูกเล่นที่โซเชียลมีเดียยุคใหม่ไม่ค่อยมี แถมยังค้นหาผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเพิ่มเป็นเพื่อนได้ ซึ่งก็คล้ายๆ กับวิธีการทำงานของ Tinder แต่ถ้าจะให้อธิบายถึง Tinder ก็คงจะเกริ่นยาวไป เอาเป็นว่า BTimes จะขอย้อนกลับไปคร่าวๆ ละกันนะคะ ส่วนฟังก์ชันอื่นๆ ก็คล้ายกับ Facebook ในปัจจุบันคือโพสต์รูป สร้างเป็นอัลบั้มรูปภาพได้ คอมเมนต์ในโปรไฟล์ของกันและกันได้

ถ้าย้อนกลับมายังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่าง Twitter ที่พัฒนาโดยบริษัท Obvious Corp ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นและในกลุ่มคนดังด้วย ลักษณะการใช้งานหลักๆ ก็คือการแชร์สถานะ (Status) ผ่านข้อความสั้นๆ ไม่เกิน 280 ตัวอักษร เมื่อก่อนมีแค่ 140 ตัวอักษรและสามารถรีทวีต (Retweet) ข่าวสารที่น่าสนใจของผู้อื่นได้ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันให้ส่งข้อความหากันได้ทั้งรูปแบบสาธารณะ ที่เรียกกันว่า “Tweets” คล้ายๆ กับเสียงนกร้อง และรูปแบบข้อความส่วนตัว ที่เรียกว่า Direct Message หรือ DM หรือ เดม (ภาษาวัยรุ่นทวิตเตอร์) ก็สุดแล้วแต่จะเรียกสรร ซึ่ง Twitter ก็จะทำงานเหมือนกับแอปพลิเคชันอื่นๆ ทั่วไป โดย Twitter นั้นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2006 หลังจาก Hi5 และ Facebook ได้ไม่นานเท่าไรเอง

และจากรายงานของ We Are Social พบว่ามีผู้ใช้ Twitter ในประเทศไทยมากถึง 7.35 ล้านคน โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีบทบาทในการเป็นพื้นที่แชร์ข่าวสาร การเมือง บันเทิง ซุบซิบ หรือแม้แต่เรื่องของไอดอล ศิลปิน ที่เป็นข้อมูลเฉพาะกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว รวมข่าวสารจาก Twitter ยังสามารถแพร่กระจายออกไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้แบบเร็วมาก เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า “เทรนด์ทวิตเตอร์” อยู่นั่นเอง

ต่อมาช่วงประมาณปลายๆ ปี 2022 อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา หรือที่เรารู้จักกันในนามเจ้าพ่อเทคโนโลยี ก็ได้สร้างความฮือฮาด้วยการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ ด้วยมูลค่า 44,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.6 ล้านล้านบาท พอหลังจากที่เข้าซื้อกิจการอย่างสมบูรณ์ก็มีเรื่องราววุ่นวายมากมายสารพัดหัวจะปวดขององค์กรทวิตเตอร์เกิดขึ้น จนกระทั่งมัสก์ประกาศนโยบายเริ่มเก็บค่าบริการรายเดือน Twitter Blue ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนดังหรือคนมีชื่อเสียงที่นิยมใช้บริการนี้ รวมถึงการจำกัดการมองเห็นโพสต์ต่อวัน ถ้าอยากเพิ่มต้องเสียตังค์ ซึ่งนั่นก็ทำให้กระแสความนิยมของทวิตเตอร์หดหายไปเล็กน้อย

ล่าสุด ไม่กี่วันมานี้ก็เกิดกระแสฮือฮาไปใน 100 ประเทศ รวมถึงไทยบ้านเราด้วย เมื่อ Meta บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram อย่างมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ก็ได้เปิดให้บริการโซเชียลใหม่ในชื่อว่า “Threads” ที่เรียกได้เลยว่าเหมือนฝาแฝดกับ Twitter ก็ไม่ผิด เพราะฟังก์ชันการใช้งานแทบจะ Copy paste กันเลยทีเดียว เพราะเจ้าแอปฯ Threads เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลประเภทเดียวกับ Twitter ที่เน้นการแชร์ข้อความหัวข้อเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงสิ่งจะกลายเป็นเทรนด์ในวันต่อๆ ไป โดยผู้ใช้จะสามารถติดตามและพูดคุยกับเหล่าครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีความชอบความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือจะแชร์ไอเดีย ความคิดเห็น และสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้คนมาติดตามก็ได้ ที่สำคัญยังใช้บัญชีเดียวกับ Instagram โดยสามารถเชื่อมโยงบัญชีผู้ติดตามจาก Instagram ที่เรามีอยู่แล้วได้ด้วย

สำหรับการใช้งานเบื้องต้นก็เริ่มจากต้องดาวน์โหลดเจ้าแอปฯ “Threads, an Instagram app” ก่อน ซึ่งดาวน์โหลดได้ทั้งบน iOS และ Google Play ส่วนวิธีการเริ่มใช้งานที่จำเป็นจะต้องทำก็ได้แก่
1. หากยังไม่มีบัญชี Instagram จำเป็นจะต้องสมัครบัญชีในแอปฯ Instagram ก่อน
2. เปิดแอปฯ Threads แล้วล็อกอินด้วยบัญชีเดียวกับ Instagram
3. ชื่อบัญชีจะถูกบังคับให้เหมือนกับใน Instagram แต่สามารถเปลี่ยนรูปโปรไฟล์และข้อมูลอื่นๆ หรือจะเลือก Import มาจาก Instagram เลยก็ได้เช่นกัน
4. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวว่าต้องการให้เป็นบัญชี Public ที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ หรือให้เป็นบัญชี Private ที่จะมีเฉพาะผู้ติดตามเท่านั้นที่มองเห็นได้
5. สามารถเริ่มใช้งาน Threads ได้ทันที โดยแต่ละโพสต์จะถูกเรียกว่า “threads” และการแชร์จะเรียกว่า “repost”

แหมเปิดตัวมาแค่ไม่กี่วัน Meta ก็งานเข้า เพราะทางด้านทวิตเตอร์ได้ออกมาบอกว่า Meta ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของ Twitter เพื่อสร้างแอป “เลียนแบบ” ซึ่งสำนักข่าวเซมาฟอร์ ได้รายงานว่า ทวิตเตอร์เตรียมยื่นฟ้อง Meta หลัง Threads ได้เปิดตัวเพียงไม่กี่วัน โดยทวิตเตอร์อ้างว่า Meta ได้ใช้ความลับทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างแอปพลิเคชันดังกล่าว โดยอเล็กซ์ สปีโร ทนายความส่วนตัวของอีลอน มัสก์ ระบุว่า Meta ได้ว่าจ้างพนักงานเก่าของทวิตเตอร์ เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าว อีกทั้งอดีตพนักงานเก่าของทวิตเตอร์ยังคงสามารถเข้าถึงความลับทางการค้าและข้อมูลที่อยู่ในชั้นความลับอื่นๆ ของทวิตเตอร์ได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายของรัฐและกฎหมายของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม ทวิตเตอร์ได้เรียกร้องให้ Meta หยุดใช้ความลับทางการค้าของทวิตเตอร์ หรือข้อมูลที่เป็นความลับอื่นๆ ทันที

แต่ Meta เองก็โนสนโนแคร์ โดยแอนดี สโตน หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของ Meta ออกมาโต้ทันทีว่าทีมวิศวกรที่อยู่ในทีมพัฒนา Threads ไม่ได้เป็นอดีตพนักงานของทวิตเตอร์ และ Meta ไม่ได้กังวลต่อการฟ้องร้องของทวิตเตอร์เลยด้วยซ้ำ

กลายเป็นกระแสดรามาระหว่างสองค่ายเทคโนโลยีนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นับว่าซักเกอร์เบิร์กก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย เพราะหลังจากที่ Meta เพิ่งเปิดตัว Threads เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ถ้านับเวลาเพียง 1 วัน จนมาที่เช้าวันที่ 7 ก.ค. หรือแค่ 16 ชม. ก็มีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเป็นสมาชิกไปแล้วมากกว่า 30 ล้านคน (ยังไม่นับรวมการอัปเดตล่าสุดวันนี้) สะท้อนถึงความนิยมของ Threads ได้ดีเลยทีเดียว หรืออีกเหตุผลคงอาจเป็นเพราะหนีข้อจำกัดจำนวนทวีตที่สามารถมองเห็นได้ต่อวันของทวิตเตอร์ด้วยที่ทำให้หลายคนเปลี่ยนใจหันมาใช้ Threads

ก็เรียกได้ว่าการมาของ Threads ถือเป็นการเปิดศึกชิงความเป็นคิงส์ของแอปฯ โซเชียลมีเดียของสองค่ายนี้ และเชื่อว่าความดุเดือดของการดึงผู้ใช้งานจากทวิตเตอร์นี้อาจจะลากยาวเป็นมหากาพย์ยิ่งกว่า มหาศึกชิงบัลลังก์ Game of Thrones แต่ในอนาคตมหากาพย์เรื่องนี้จะจบอย่างไร เราก็คงทำได้เพียงจกป็อปคอร์น และโปรดติดตามกันต่อไป…

BTimes