กกร.ประเมินโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สูงถึงหลักล้านล้านบาท

770
0
Share:

นายสุพันธุ์ มงคลสุธีร์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าขณะนี้เครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงเดือนมี.ค.และเม.ย. ยังอยู่ในภาวะที่แย่ลงต่อเนื่อง เพราะแม้สถานการณ์การระบาดในจีนจะทยอยคลี่คลาย แต่การระบาดนอกจีนและไทยที่ยังรุนแรง ทำให้นานาประเทศออกมาตรการควบคุมเพิ่มเติม เช่นเดียวกับไทยที่ภาครัฐประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. – 30 เม.ย 2563 และมีมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล
.
ดังนั้นการระบาดของโควิด19 ไม่เพียงส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่องค์การระหว่างประเทศหลายสถาบันต่างทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจหลักในโลกลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกันโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นี้ และเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ
.
กกร.มองว่า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบระยะที่ 1-2 และเตรียมที่จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม รวมถึงมีมาตรการจาก ธปท. และสถาบันการเงินต่างๆ แต่โดยรวมแล้วก็อาจจะไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชน จากการขาดรายได้และการหยุดหรือปิดกิจการ ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน
.
แต่เดือนนี้ยังไม่มีการพิจารณาปรับเป้าหมาย จีดีพี โดยรอประเมินผลกระทบจากมาตรการต่างๆที่มติครม.ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจีดีพีปีนี้ยังติดลบ ขณะที่ส่งออกคาดจะติดลบถึง 5%
.
นอกจากนี้ยังมี ข้อเสนอเพิ่มเติมต่อมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ดังนี้ โดยมาตรการด้านผู้ประกอบการ
.
1.ขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด (โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ ที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น)
.
2.ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันได้ลดลงอย่างมาก จึงขอให้ค่า FT สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงด้วย
.
3.เพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80%
.
4.ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของ Covid-19
.
5.รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ใน Covid-19
.
มาตรการด้านแรงงาน

1.ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
.
2.อนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน)
.
3.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33
.
4.เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับ เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน รวมทั้งสามารถช่วยเหลือ โดย บริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท
.
5.บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่างโควิด-19 ระบาด
.