กนง. มีมติเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% หั่นจีดีพีไทย ปี 66 เหลือโต 2.4%

348
0
Share:
กนง. มีมติเอกฉันท์ คง ดอกเบี้ย นโยบายที่ระดับ 2.50% หั่นจีดีพีไทย ปี 66 เหลือโต 2.4%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 โดยคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง โดยในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว 2.4% จากการประชุมครั้งก่อน ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% และส่วนเศรษฐกิจปี 67 จะขยายตัว และ 3.2% ลดลง จากการประชุมครั้งก่อนที่คาดว่าจะโตถึง 4.4% หากรวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 3.8% ลดลงจากที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนจะขยายตัว 4.4%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% ในปี 2566 และ และ 2.0 % ในปี 2567 โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2% ลดลงจาก 2.6% จากประมาณการครั้งก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและปัจจัยชั่วคราวโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานและราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% ในปี 2566 และ 1.2% ในปี 2567 ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคา อาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่จะดันราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น