กมธ.ยื่นหนังสือด่วนถึงนายกฯ ชะลอควบรวมกิจการ ‘ทรู-ดีแทค’

392
0
Share:

นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู กับ ดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งข้อเสนอประกอบการพิจารณาให้ชะลอการควบรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการประชุมไปแล้ว จำนวน 10 ครั้ง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และพิจารณาเห็นว่า หากมีการดำเนินการให้เกิดการรวมธุรกิจระหว่างบริษัทระหว่างทรู-ดีแทค ในห้วงเวลานี้

ขณะที่มีหลายประเด็น ยังคงไม่ชัดเจน และมีข้อกังวลจากหลายฝ่าย อาจจะทำให้การรวมธุรกิจครั้งนี้เกิดผลเสียหรือส่งผลกระทบต่อ ผู้บริโภค ประชาชนผู้ใช้บริการ และประเทศชาติโดยรวมในอนาคตได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงมีข้อเสนอมายังนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ เพื่อพิจารณาขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการชะลอการดำเนินการดังกล่าวออกไปก่อน

จนกว่าจะมีข้อกฎหมาย ข้อมูล และแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนว่าจะสามารถปกป้องประเทศชาติและประชาชนจากผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากการประชุมคณะกรรมาธิการฯ รวมทั้ง การติดตามข่าวสาร  พบว่ายังมีข้อมูลและข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและสร้างความกังวลแก่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ๆ และสังคม โดยรวม 7 ประเด็น ดังนี้

1.ประเด็นด้านผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคม ผลการศึกษาดัชนีการกระจุกตัวอุตสาหกรรม (HHI) พบว่า หากมีการรวมธุรกิจครั้งนี้ จะทำให้ค่า HHI สูงขึ้น มากกว่า 2,500 จุด และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 1,000 จุด ส่งผลต่อสภาวะการแข่งขัน สุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจ เหนือตลาด และเป็นอุปสรรคสำหรับการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญแสดงถึงสัญญาณอันตรายในการลด การแข่งขันอย่างเสรี

2.ประเด็นด้านข้อกฎหมาย พบว่า ตามประกาศ เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 5 นั้น ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต ที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการดำเนินการ

จากประเด็นข้อกฎหมายนี้มีความกังวลว่าเดิมทีก่อนมีประกาศ กสทช. ปี 2561 กฎหมาย มีการกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ตามประกาศฉบับนี้ซึ่งได้มีการแก้ไขในปี 2561 มีลักษณะเป็นการลดอำนาจของหน่วยงานที่กำกับดูแลจากการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ร่วมธุรกิจ มาเป็นการรับทราบรายงานแทน และมีอำนาจเพียงการออกมาตรการกำกับดูแลผลกระทบเท่านั้น

ขณะที่ประกาศ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2546 ข้อ 8 ได้ระบุไว้ว่า การเข้าถือครองธุรกิจในประเภทเดียวกัน ด้วยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาต รายอื่นจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และต้องแจ้งแก่คณะกรรมการเพื่อขออนุญาต ตามหลักเกณฑ์ เท่ากับยังคงอำนาจการอนุญาตไว้หากเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน

ดังนั้น จำเป็นต้องมีการตีความกฎหมาย กฎ กติกาในการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ว่า จะเป็นไป ตามประกาศฉบับใด ทั้ง 2 กิจการเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่ หากไม่เป็น กลไกการกำกับดูแลที่มีอยู่ที่เพียงแต่ ให้รายงานและกำหนดเงื่อนไข

รวมถึงมาตรการเฉพาะในกรณีที่เกิดผลกระทบนั้นเพียงพอหรือไม่ และหน่วยงาน ผู้กำกับดูแลควรดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

3.ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจระหว่างคณะกรรมการ กสทช. ชุดเดิมและชุดใหม่ สืบเนื่องจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ส่งผลให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องเป็นผู้พิจารณาการรวมธุรกิจครั้งนี้ต่อจากคณะกรรมการชุดรักษาการที่หมดวาระไปเพราะมีการตั้งชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่กระบวนการต่าง ๆ ในการรวมธุรกิจ ครั้งนี้ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน โดยคณะกรรมการชุดเดิม ทั้งในเรื่องของการแก้ไขประกาศต่าง ๆ การพิจารณา แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ และอนุกรรมการในการพิจารณาศึกษาข้อมูล เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการรวม ธุรกิจ โดยที่คณะกรรมการชุดใหม่ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจดำเนินการ แต่ต้องนำข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการดังกล่าว มาใช้ประกอบการตัดสินใจ

ที่สำคัญกรอบระยะเวลาที่ต้องดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการนั้น เหลือไม่มาก ขณะที่มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาจจะไม่เข้าใจต่อการดำเนินการ หรือ กระบวนการที่ผ่านมาของคณะกรรมการชุดเดิม ดังนั้น สิ่งที่กล่าวมาจึงอาจส่งผลต่อความรอบคอบ รอบด้านในการพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหม่

จนอาจเกิดการผิดพลาดในการตัดสินใจได้ เนื่องจากมีระยะเวลาที่จำกัดเกินไป ที่จะศึกษาข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจอนุญาตการรวมธุรกิจครั้งนี้อย่างละเอียดรอบคอบ

4.ประเด็นการคัดเลือกที่ปรึกษาอิสระ ของ กสทช. เพื่อมาพิจารณาให้ความคิดเห็นหรือจัดทำ รายงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎหมาย พบว่าคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระนั้นอาจไม่มีความเป็น อิสระจริง

รวมทั้งอาจขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกรรมการอิสระที่ กสทช. ได้มีการกำหนดไว้เองด้วย ซึ่งที่ประชุมกรรมาธิการได้ทักท้วงและเสนอรายละเอียดต่อตัวแทน กสทช. ที่เข้าร่วมประชุมแล้ว

5.ประเด็นข้อมูลรายงานผลการศึกษาผลกระทบต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ของต่างประเทศ ที่สำนักงาน กสทช. ได้นำมาประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจในการดำเนินการครั้งนี้ พบว่า เป็นผลการศึกษาที่ไม่ทันสมัย ไม่มีความเป็นปัจจุบันและไม่ทันต่อบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก

6.ประเด็นแนวทางการกำหนดมาตรการของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะดำเนินการในการควบคุม กำกับดูแลการรวมธุรกิจครั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้การรวมธุรกิจเกิดผลกระทบ ต่อผู้บริโภค ประชาชนและประเทศชาติทั้งในระยะสั้นระยะยาว

7.ประเด็นข้อกังวลของสังคมและองค์กรต่าง ๆ เช่น หนึ่งในคณะกรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงาน กสทช. ได้มีการยื่นหนังสือถึง กสทชเรื่องขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ และยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 แล้วนำประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กลับมาใช้

หรือนำออกมาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อออกประกาศใหม่ที่มีมาตรฐานเดียวกันมาใช้ในการประกอบการ พิจารณาดำเนินการ เพื่อมีคำสั่งไม่ให้มีการควบรวมธุรกิจของทรู-ดีแทค เพราะจากการศึกษาในขั้นต้นของกรรมาธิการ พบว่าการรวมธุรกิจในครั้งนี้มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้าเกินร้อยละ 50 และลดการแข่งขันทางการค้า จำกัดการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ยากที่จะเกิดได้ รวมไปถึงการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและกำกับดูแลจากภาควิชาการ แบะสภาองค์กรผู้บริโภคด้วย