กรมการค้าภายใน เผยราคาสินค้าปรับลงหลายรายการ พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคา

206
0
Share:
กรมการค้าภายใน เผย ราคาสินค้า ปรับลงหลายรายการ พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคา

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอาหารและ สินค้าอุปโภค-บริโภค ในปัจจุบัน พบว่า สินค้าหลายรายการได้ปรับราคาลดลง โดยกลุ่มเนื้อสัตว์ เนื้อหมู ราคาลดลง 2-4% จากราคาสุกรมีชีวิตลดลง ทำให้ราคาหมูเนื้อแดงอยู่ที่กิโลกรัมละ 168 บาท ไก่มีชีวิต ลดราคาลง 3-4% ทำให้ราคาชิ้นส่วนลดลง ได้แก่ น่องไก่ติดสะโพก ราคาเฉลี่ย 73 บาทต่อกิโลกรัม น่องหรือสะโพก ราคาเฉลี่ย 76 ราคา บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งตอนนี้ในห้างสรรพสินค้ามีการจัดโปรโมทชั่นลดราคาลงมาเฉลี่ย 5-10 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับไข่ไก่เบอร์ 3 เฉลี่ยราคา 3.40-3.42 บาทต่อฟอง ถือว่าราคาลดลงมาจากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ราคาฟองละ 3.60 บาทต่อฟอง ขณะที่ราคานั้นปาล์ม เฉลี่ย 47 บาทต่อขวด โดยได้หารือร่วมกับผู้ผลิต พบว่าราคามีแนวโน้มจะลดลงได้อีกตามต้นทุนการผลิตที่ลดลง

ส่วนกลุ่มอาหารกระป๋องและเครื่องดื่ม ยังขอความร่วมมือในการตรึงราคาต่อไป แม้ผู้ผลิตจะแจ้งว่ามีต้นทุนสูงขึ้นจากราคาพลังงาน และ ค่าแรง

ขณะที่สินค้าเกษตร พบว่าราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.80 บาท มันสำปะหลังราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.23 บาท ขณะที่ข้าวเปลือก ก็ปรับราคาเพิ่มขึ้นทุกชนิดโดยราคาข้าวเปลือกเจ้า ราคาอยู่ที่เฉลี่ย 9,850 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวข้าวเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 14,600 บาทต่อตัน

จากการที่กรมฯ ได้ดำเนินการอมก๋อยโมเดล เนื่องจากช่วงนี้เข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวพืช 3 หัว หอมหัวใหญ่ กระเทียม หอมแดง โดยดำเนินการเชื่อมโยงผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรรวบรวมกว่า 22,800 ตัน ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตในภาพรวมมีปริมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปี 65 ประมาณ 10% โดยกรมฯ ได้เข้าไปดำเนินการรับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต เพื่อเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องเกษตรกรว่าจะมีตลาดรองรับผลผลิต สามารถขายสินค้าเกษตรได้ในเกณฑ์ดีตลอดฤดูกาล รวมทั้งเตรียมมาตรการต่างๆ รองรับและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับการกระจายสินค้าพืช 3 หัวในโครงการอมก๋อย โมเดล ผ่านโครงการคาราวานพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชนปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีจัดทุกวัน ๆ ละ 100 จุดหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปตามพื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้บริโภค