กรมวิทย์เผยโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดในไทยพุ่ง 18.5% แล้ว

330
0
Share:
โอไมครอน

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยโดยตั้งแต่วันที่ 5-11 ก.พ. จากการตรวจประมาณ 2 พันตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอนเกือบทั้งหมด 1,975 ตัวอย่าง คิดเป็นประมาณ 97.2% เป็นเดลตา 2.8% แสดงให้เห็นว่ายังมีเดลตาหลงเหลืออยู่บ้างซึ่ง 10 จังหวัดที่ติดโอไมครอนสูงสุด คือ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่ตรวจพบการติดเชื้อเป็นโอไมครอนถึง 99.4%

หลังการระบาดของโอไมครอนค่อนข้างเร็ว และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก มีโอกาสของการกลายพันธุ์จากเดิมกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น B.1.1.529 แต่เมื่อมีสายพันธุ์ย่อยมากขึ้น จึงเรียกว่า BA.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์โอไมครอนเดิม ทั่วโลกมีการตรวจส่งเข้าฐานข้อมูลโลก GISAID ประมาณ 617,256 ตัวอย่าง ส่วน BA.2 ประมาณ 5.4 หมื่นกว่าตัวอย่าง BA.3 ประมาณ 297 ราย ไทยได้ตรวจพบรายแรกๆ ช่วงต้นเดือน ม.ค. ทั้งสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2

ซึ่งจากข้อมูลการแพร่เร็วได้เริ่มเห็นสัญญาณ เช่น เดนมาร์กที่เบียดของเดิม แสดงว่าแพร่เร็วกว่า ส่วนความรุนแรงและหลบวัคซีน อาจดูได้เฉพาะตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีข้อแตกต่างมากนักเมื่อเทียบกับ BA.1 และจากข้อมูลสัปดาห์ที่ผ่านมาจากพื้นที่ต่างๆ ของไทยและต่างประเทศใน 1,975 รายที่เป็นโอไมครอนพบว่า BA.2 ประมาณ 18.5% ในภาพรวมทุกกลุ่ม เจอ BA.1 ประมาณ 81.5% เจอกลุ่มที่มาจากต่างประเทศเป็น BA.2 มากกว่าเล็กน้อย แต่ไม่มีนัยสำคัญ เป็นสถานกาณณ์ค่อนข้างปัจจุบัน แต่ยังมีข้อจำกัด

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังช่วยป้องกันการติดเชื้อและป่วยหนักเสียชีวิตได้ ไม่ว่า BA.1 หรือ BA.2 สนับสนุนให้คนฉีดครบ 2 เข็มแล้วในระยะสมควรมาฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต แต่ในระดับโลกเราเห็น BA.2 จากเดิมมีผู้ติดเชื้อที่ 1-2% ตอนนี้เป็น 8-9% แสดงว่าสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมนิดหน่อย ต้องตามดูใกล้ชิด ถ้าแพร่เร็วแล้วไม่มีอิทธิฤทธิ์ก็ไม่มีความหมาย ทั้งนี้กรณีอังกฤษได้ยืนยันว่าตรวจพบสายพันธุ์เดลต้าครอนให้รอข้อมูลยืนยันจากทาง GISIAD