กระทบเต็มๆ! เศรษฐกิจจีนชะลอตัวนำเข้าลดลง กดดันส่งออกมันสำปะหลัง-ข้าวไทยหดตัว

396
0
Share:
กระทบเต็มๆ! เศรษฐกิจจีน ชะลอตัวนำเข้าลดลง กดดันส่งออกมันสำปะหลัง-ข้าวไทยหดตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าจีนนำเข้าธัญพืชลดลงในปี 66 ตาม เศรษฐกิจจีน ที่ฟื้นตัวช้าซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าเติบโตชะลอลง ผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกที่ลดลงจากผลของฐานที่พุ่งสูงในปีก่อน และการระบายสต็อกธัญพืชและพืชอาหาร (Destocking) ของจีนจากที่เร่งสะสมไว้ในระดับสูงเพื่อความมั่นคงด้านอาหารในช่วงโควิด กดดันคำสั่งซื้อใหม่จากจีน โดยที่จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทย ทำให้ไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงกดดันการส่งออกมันสำปะหลังและข้าวไทยไปจีนให้ลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 66 แม้จีนน่าจะมีความต้องการธัญพืชเพื่อผลิตป้อนอุปสงค์ในประเทศช่วงเทศกาลปลายปี และเพื่อฟื้นฟูจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายมณฑล แต่อุปสงค์โดยรวมก็น่าจะยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงอยู่ ประกอบกับเอลนีโญที่อาจสร้างความเสียหายบางส่วนต่อผลผลิตในช่วงไตรมาสที่ 4 ทำให้การส่งออกมันสำปะหลังและข้าวไทยไปจีนยังคงเผชิญความท้าทาย

สำหรับภาพรวมทั้งปี 66 คาดว่ามูลค่าส่งออกมันสำปะหลังไทยไปจีนอาจหดตัว 15.0% หรืออยู่ที่ 2,429 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าส่งออกข้าวไทยไปจีนอาจหดตัว 28.5% หรืออยู่ที่ 276 ล้านดอลลาร์

ส่วนในระยะถัดไป การส่งออกมันสำปะหลังและข้าวไทยไปจีน คงเผชิญความท้าทายมากขึ้นในระยะสั้นกลาง จากแผนพัฒนาเกษตรของจีนที่ทยอยยกระดับการเพิ่มผลผลิตในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวโพด ขณะที่การบริโภคอาจเพิ่มไม่มากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่คงต้องใช้เวลาและอาจไม่กลับไปเติบโตเหมือนเดิมเช่นในช่วงก่อนโควิด จะฉุดการนำเข้าธัญพืชและพืชอาหารจากจีนให้ทยอยลดลง

สินค้ามันสำปะหลัง คงได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากไทยส่งออกไปจีนสูง และเป็นสินค้าทดแทนของข้าวโพดและถั่วเหลืองที่จีนเร่งผลิต โดยคาดว่าในปี 67 มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังไทยไปจีนอาจหดตัวที่ 4.5%-8.6%

ขณะที่ข้าว คงมีผลกระทบแต่ในวงจำกัดกว่า เนื่องจากไทยส่งออกข้าวไปจีนไม่มากนัก ซึ่งผลกระทบคงมาจากแนวโน้มเอลนีโญที่รุนแรงขึ้นเป็นสำคัญ จนสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าว และทำให้มีปริมาณการส่งออกข้าวไปจีนที่ลดลง โดยคาดว่า ในปี 67 มูลค่าการส่งออกข้าวไทยไปจีนอาจหดตัวที่ 4.0-7.6% ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระยะข้างหน้า ผู้ส่งออกควรหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม เพื่อทดแทนตลาดจีนที่ไทยพึ่งพาสูง เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ภาคการผลิต ควรมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นคุณภาพ หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่างเทรนด์สุขภาพที่เติบโตดี เช่น ข้าวออร์แกนิก แป้งปลอดกลูเตน เป็นต้น