กระทรวงแรงงานเผย 9 เดือนที่ผ่านมา ปิดกว่า 4,200 โรงงาน

794
0
Share:

ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานยังค่อนข้างน่าห่วงแม้โควิด 19 มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ล่าสุดมีสถานประกอบกิจการที่ใช้มาตรา 75 ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 หรือขอหยุดกิจการทั้งหมด หรือปิดกิจการบางส่วน ช่วงตั้งแต่ 1-21 มิถุนายน 2563 ยอดรวมทั้งหมด 1,310 แห่ง มีจำนวนแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 319,824 คน
.
แต่เมื่อย้อนข้อมูลตั้งแต่เดือนต.ค. 2562 มีการยื่นขอปิดกิจการ 114 แห่งเท่านั้น และเมื่อโควิด-19 ระบาดแบบกระจายตัวมากขึ้น ภาครัฐประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้เดือนเม.ย. 2563 มีการยื่นขอปิดกิจการสูงถึง 2,456 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 472,855 คน
.
โดยสรุปยอดปิดกิจการช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ ต.ค. 2562 – 21 มิ.ย. 2563 ทั้งหมด 4,254 แห่ง ลูกจ้างตกงานรวม 853,696 คน เดือนกรกฎาคมนี้ยังต้องจับตาดูสถานการณ์แรงงานอย่างใกล้ชิด
.
โดย 3 อันดับแรกที่ยื่นขอปิดกิจการในเดือนมิถุนายน คือ 1) การผลิต เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์-เครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์โลหะอื่น ๆ // 2) บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ และ 3) การขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์
.
ด้านนางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรมและโฆษกสำนักงานประกันสังคม หรือสปส. เปิดเผยว่า ขณะนี้การเยียวยาผู้ว่างงาน 62% ของอัตราค่าจ้างรายวัน เหลือรอบสุดท้าย คาดว่าจะสั่งจ่ายแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนก.ค.นี้ เบื้องต้นใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมรวม 12,000 ล้านบาท และขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะตกงานปกติ ตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 หลายกิจการอยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ของเงินเดือนเป็นการชั่วคราว หรือเลิกจ้าง และปิดกิจการ
.
นอกจากนี้หลังติดตามสถานการณ์พบว่ามีแนวโน้มสูงที่จะมีการเลิกจ้าง-ปิดกิจการ และว่างงานอีกกว่า 7-8 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่าจะมีผู้ประกันตนอยู่ราว 200,000 คน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี, ระยอง ฉะเชิงเทรา จึงต้องเตรียมการบริหารเงินเพื่อจ่ายชดเชย โดยเตรียมเสริมสภาพคล่องไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท