ทองคำตลาดโลกปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ยืนเหนือ 2,089.07 ดอลลาร์

182
0
Share:
ทองคำโลก ปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ยืนเหนือ 2,089.07 ดอลลาร์

ตลาดซื้อขายทองคำโลก นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2023 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ 2,069.10 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +33.31 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +1.6% โดยในช่วงระหว่างวันซื้อขายมีราคาพึ่งขึ้นสูงสุดที่ 2,075.09 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2023 ราคาทองคำปิดขึ้น 5 วันติดกันรวม +53.02 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +2.70%

ขณะที่ราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ระดับ 2,089.70 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +52.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +1.6% ส่งผลทำสถิติราคาทองคำล่วงหน้าปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ เนื่องจากทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์เดิมที่ระดับ 2,072.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมปี 2022 ซึ่งเป็นผลจากรัสเซียเปิดฉากทำสงครามกับยูเครน ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2023 ส่งผลหยุดราคาทองคำปิดขึ้น 5 วันติดกันรวม 56.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +3.70%

ในสัปดาห์นี้ ราคาทองคำตลาดโลกปิดพุ่งสูงถึง +3.4% ในขณะที่ ทั้งเดือนพฤศจิกายนผ่านไป ราคาทองคำโลกเพิ่มขึ้น +2.7% นับเป็นเดือนที่ 2 ที่ราคาปิดขึ้นในแดนบวก

ก่อนหน้านึ้ ในเดือนตุลาคม พบว่าราคาทองคำตลาดโลกพุ่งทะยานขึ้นถึง 8% โดยนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่กลุ่มฮามาสติดอาวุธเปิดฉากโจมตีอิสราเอลจนนำไปสู่สงครามรุนแรงในรอบ 75 ปีของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ราคาทองคำโลกพุ่งทะยานขึ้นถึง 190.70 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เนื่องจากราคาทองคำตลาดโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2023 อยู่ที่ระดับ 1,809.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติราคาต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

เมื่อกลางเดือนเมษายนปี 2023 ผ่านไป ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาปิดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 2,048.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากวิกฤตธนาคารเอสวีบี และเอสบี ปิดกิจการและถูกควบคุมโดยทางการสหรัฐอเมริกา

ย้อนกลับไปในปี 2022 ผ่านไปเมื่อเดือนมีนาคม พบว่าราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

สาเหตุจาก นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา กล่าวปาฐกถาพิเศษในคืนผ่านมา โดยมีใจความสำคัญว่าความเสี่ยงของการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐไม่ว่าจะปรับขึ้นสูงเกินไป และปรับลงต่ำเกินไป กำลังจะนำไปสู่ความสมดุลย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เฟดไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในขณะนี้ ทำให้นักลงทุนประเมินในทิศทางบวก และเกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะจบสิ้นรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอาจเป็นไปได้สูงที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยระยะสั้นครั้งแรกในเดือนมีนาคมปี 2024 หรือลงครั้งแรกในรอบ 2 ปีของการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ยาวนานมาถึง 11 ครั้งติดต่อกัน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพลิกร่วงอ่อนค่าทันที ส่งผลเป็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐรายเดือน พบว่าทำสถิติย่ำแย่ที่สุดในรอบปีนี้ นอกจากนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี ร่วงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 12 สัปดาห์ หรือรอบ 3 เดือน ซึ่งเป็นผลจากการประเมินแนวโน้มรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอาจจบสิ้นแล้ว

ขณะที่ ตัวชี้วัดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมสิ้นเดือนธันวาคมนี้อยู่ที่ 100% จากเดิมที่โอกาสไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ 91% ขณะเดียวกัน โอกาสเริ่มปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดในการประชุมเดือนมีนาคม ปี 2024 อยู่ที่ 50% จากเดิมเคยมองว่ามีโอกาสถึง 80% จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม