กลับเทยกแผง! ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดดิ่งกว่า 200 จุด

321
0
Share:

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 (ตามเวลาในสหรัฐ) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 31,072 จุด -215 จุด หรือ -0.69% ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 3,830 จุด -32 จุด หรือ -0.84% และดัชนีหุ้นนาสแดค ปิดที่ระดับ 11,360 จุด -92 จุด หรือ -0.81% ในสัปดาห์ผ่านไป ดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่ง ปรับลดลง -0.2%, -0.9% และ -1.6% ตามลำดับ โดยเฉพาะดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 จะคงดำดิ่งมากถึง -19% จากสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สาเหตุจากฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยีประกาศลดแนวโน้มคาดการณ์ผลประกอบการเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา รวมถึงแอปเปิล อินคอร์ปอเรชั่น ประกาศชะลอการจ้างงานในปี 2566 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจรับสร้างบ้านประจำเดือนร่วงตกต่ำสุดในรอบ 2 ปีกว่า หรือนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19

ตลาดซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 102.60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +5.01 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +5.1% ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 106.27 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล +5.11 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ +5.1% ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านไป ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทั้ง 2 แห่งดำดิ่งอย่างหนักถึง -27% และ -29% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบจากราคาสถิติสูงสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลเข้าสู่ภาวะตลาดหมี หรือ Bear Market สมบูรณ์แบบ

ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งถูกเทขายอย่างหนักมากถึง -10.73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลนั้น ทำสถิติส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำมากที่สุดอันดับ 3 นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบดังกล่าวเริ่มทำการซื้อขายครั้งแรกเมื่อปี 1988 หรือในรอบ 34 ปี ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ทำสถิติดำดิ่งมากที่สุดในรอบ 1 วัน คือ -16.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม

สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นถึง 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 นี้ อาจเป็นไปได้น้อยลง นอกจากนี้ สถานการณ์การตัดส่งพลังงานจากรัสเซียไปยังยุโรปมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงก่อนถึงฤดูหนาวนี้ โดยรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่พลังงานรัสเซีย ก๊าซพรอม ประกาศตัดส่งก๊าซธรรมชาติไปให้กับลูกค้าอย่างน้อย 1 รายในยุโรป

ราคาทองคำล่วงหน้านิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 1,717.40 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +13.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +0.80% ก่อนหน้านี้ ราคาทองคำล่วงหน้ามีราคาสูงสุดระหว่างวันขึ้นไปถึง 2,072.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 หรือในรอบ 18 เดือน

สาเหตุจาก นักลงทุนประเมินโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นสูงถึง 1% ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา อาจเป็นไปได้น้อยลง ส่งผลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงในวันแรกถึง -0.3% ของสัปดาห์ใหม่