กลุ่มผู้เสียหาย STARK ร้อง ก.ล.ต. หลังขาดทุนกอง LTF RMF คาดอาจขาดทุนทะลุ 3,500 ล้าน

271
0
Share:
กลุ่ม ผู้เสียหาย STARK ร้อง ก.ล.ต. หลังขาดทุนกอง LTF RMF คาดอาจขาดทุนทะลุ 3,500 ล้าน

วันนี้ (24 กรกฎาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายสิทธา สุวิรัชวิทยกิจ และกลุ่มผู้เสียหายหน่วยลงทุน ได้เป็นตัวแทนเข้าร้องเรียนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ขอให้เป็นตัวแทนของผู้เสียหายที่ลงทุนกองทุนเพื่อประหยัดภาษี LTF RMF และกองทุนอื่นๆ สืบสวนสอบสวนและแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) แห่งหนึ่งที่ลงทุนหุ้น STARK ในฐานะความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 โดยมีดร.อุรสา บรรณกิจโศภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องเรียน

โดยหนังสือร้องเรียน ระบุว่า

กองทุนผู้กระทำความผิด ไม่ได้จัดการกองทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน มีลักษณะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับขอให้ ก.ล.ต. เป็นตัวแทนของผู้เสียหายดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดให้เยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่ง

นักลงทุนที่ได้ลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ตระหนักและเข้าใจข้อจำกัดในการลงทุนดีว่าย่อมมีทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง แต่กรณีที่ต้องมาร้องเรียนเนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามสภาพการลงทุนตามปกติวิสัย แต่มาจากการกระทำผิดกฎหมายในหลากหลายประเด็น เช่น มีพฤติการณ์ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุน โดยเห็นได้จากกองทุนนี้ได้เข้าไปลงทุนหุ้น STARK เอาไว้มากถึง 916 ล้านหุ้น ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2565 โดยมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 3.72 บาท ไปถึง 5 บาท ต่อมาเมื่อเกิดปัญหา STARK ยกเลิกดีลการซื้อกิจการบริษัท LEONI ประเทศเยอรมันในเดือนธันวาคม 2565 แล้ว กองทุนอื่นๆ พากันปรับพอร์ตขายหุ้น STARK ออกไป เพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามแผนงาน และอาจกระทบต่อผลดำเนินงานทางลบได้ แต่กองทุนนี้กลับถือครองหุ้นเอาไว้จำนวนมาก

กระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พักการซื้อขาย 4 เดือน มาเปิดให้ซื้อขาย 1 เดือนสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2566 ทางผู้กระทำผิดก็ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่าเหลือหุ้นในมือเพียงเล็กน้อย แต่ต่อมาผู้กระทำผิดได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในวันที่ 23 และ 27 มิถุนายน 2566 ว่ายังคงถือครองหุ้นไว้มากถึง 670 ล้านหุ้น และต่อมาได้ขายออกไปหมด ก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่ตลาดฯ ให้ซื้อขายได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งช่วงดังกล่าวราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคา 1 ถึง 4 สตางค์ ก็จึงน่าจะเหลือมูลค่าที่ขายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากต้นทุนที่มีอยู่ราว 3,850 ล้านบาท ประมาณการณ์ว่าคงจะขาดทุนสุทธิมากกว่า 3,500 ล้านบาท หรืออย่างต่ำก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 2,600 ล้านบาท

ทางด้าน ดร.อุรสา ผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เมื่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้รับหนังสือร้องเรียนแล้วก็จะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญทั้งผู้เสียหาย และ บลจ.กองทุนที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฏหมาย โดยจะพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย