กลุ่มพืชเศรษฐกิจหลักคัดค้านแบน 3 สารเคมี

1111
0
Share:

นางวรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไททา) เปิดเผยว่า จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต และมีมติยกเลิกและจะนำเข้าเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้น
.
ทางเกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก ขอคัดค้านมติดังกล่าว เพราะการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ขาดความชอบธรรม มีแต่กรรมการที่คัดค้านการใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และไม่มีตัวแทนผู้นำเข้าอย่างครบถ้วน
.
โดยทางกลุ่มต้องการให้ทบทวนมติยกเลิกดังกล่าว และให้ใช้ข้อเท็จจริง ข้อมูลและหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์มาประกอบการพิจารณา แทนข้อมูลจากเอ็นจีโอ ที่บิดเบือนข้อเท็จจริง โดยอ้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขณะที่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม ยางพารา และข้าวโพด ยังมีความจำเป็นต้องใช้ และยังไม่มีสารใดที่มีคุณสมบัติและราคาเทียบเท่ามาทดแทนได้ โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชอย่างพาราควอต
.
หากรัฐบาลประกาศยกเลิกและห้ามครอบครองทันทีภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 จริง กลุ่มเกษตรกรจะได้รับผลกระทบแน่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีพื้นที่จำนวนมาก
.
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องให้เวลาเพื่อจัดการสต๊อกที่มีอยู่ 3-4 หมื่นตัน ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบเพื่อจัดการสต๊อกนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท แยกเป็นค่าทำลาย 4-5 ล้านบาท ค่าขนย้ายและดูแลรักษาที่ภาครัฐต้องเช่าโกดังเก็บสินค้า 5 พันล้านบาท ค่าชดเชยให้เกษตรกรประมาณ 3 เท่าของราคาสินค้า ซึ่งคาดว่าขณะนี้ในมือเกษตรกรมีอยู่ประมาณ 10,000 ตัน
.
ดังนั้นถ้ารัฐต้องจ่าย 500 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เท่ากับว่าจะต้องชดเชยถึง 5 แสนบาทต่อ 1 ตัน แต่หากรัฐจะมีมติยกเลิกจริงควรต้องให้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นทำ เพื่อให้สินค้าที่คงค้างอยู่หมดไป และไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการทำลายสารเคมีที่ถูกประกาศยกเลิก
.
ด้านนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ภาครัฐต้องถามความเห็นจากผู้ใช้คือเกษตรกรด้วย เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนสารเคมีที่คาดว่าจะนำมาใช้ทดแทนพาราควอตและไกลโฟเซตนั้น ก็เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ที่มีราคาสูงกว่าถึง 6 เท่า ขณะเดียวกันประสิทธิภาพต้องใช้เพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า เท่ากับเกษตรกรมีต้นทุนเพิ่ม 12-14 เท่าตัว จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 22 ต.ค. 2562 เป็นตัวของตัวเอง จะตัดสินใจอะไรต้องมีสามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์
.
ซึ่งการแบนสารถูกตั้งธงไว้แล้วอย่างไม่มีเหตุผล พร้อมขอถามว่าทำไมมาแบนสารกำจัดวัชพืช ทำไมไม่แบนสารกำจัดแมลงศัตรูพืช เพราะอันตรายมากกว่า และที่น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายใครไม่แบน แสดงว่าไปรับอะไรใครมาพูดได้ยังไง กรรมการแต่ละคนเป็นผู้มีคุณวุฒิ มีความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับเกียรติอันใหญ่หลวงว่าประเทศจะเดินทางไปไหน ต่างจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่งมาเป็นแค่ 3 เดือน ถ้าแบน 3 สาร พืชอุตสาหกรรม 3 ตัว ล้มทั้งกระดานแน่นอน
.
ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ หากมติให้ยกเลิกจริง กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ที่ขึ้นทะเบียนขอใช้สารทั้ง 3 ชนิดตามประกาศของกรมวิชาการเกษตร กว่า 5 แสนคน จะยื่นต่อศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองการใช้สารดังกล่าวชั่วคราว แต่จะไม่มีชุมนุมเพื่อกดดันการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ โดยมั่นใจว่าผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ความสามารถจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่หน่วยงานต่างๆ ได้ นำเสนอไปแล้ว อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย