กลุ่มเซ็นทรัลทุ่มงบ 3 พันล้าน ปักธง “นครพนม-หนองคาย” สร้างศักยภาพเมืองรอง

354
0
Share:
กลุ่มเซ็นทรัล ทุ่มงบ 3 พันล้าน ปักธง “นครพนม-หนองคาย” สร้างศักยภาพเมืองรอง

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลในฐานะผู้นำค้าปลีกและบริการ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ คือ การขยายธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับเมือง สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “Growth for the Country , Great for Local Communities” โดยเน้นภูมิภาคที่มีศักยภาพภายในประเทศ รวมไปถึงการสร้างสรรค์ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พัฒนาเป็นไลฟ์สไตล์ฮับประจำถิ่น จุดประกายเทรนด์ท่องเที่ยวเมืองรองให้คึกคักสู่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจตั้งแต่ระดับฐานรากถึงระดับบน”

โดยกลุ่มเซ็นทรัล ใช้แนวคิด “Growth for the Country , Great for Local Communities” ผ่านการดำเนินงาน 3 มิติ คือ “เซ็นทรัล สร้าง”, “เซ็นทรัล พัฒนา” และ “เซ็นทรัล ทำ”

รุกบุกเบิกเมืองศักยภาพ ด้วย เซ็นทรัล..สร้าง
* สร้างเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการมุ่งมั่นเดินหน้าขยายโครงการต่างๆ ภายใต้การลงทุนที่มุ่งเน้นผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างรอบด้าน (Impact Investment) โดยกระจายการเติบโตไปสู่พื้นที่ที่มีศักยภาพ หรือ “เมืองรอง” ด้วยการชูบทบาทการเป็น Central of Life ศูนย์กลางของชีวิต เร่งเครื่องสร้างและพัฒนาย่านที่มีคุณภาพสู่แลนด์มาร์กแห่งใหม่อันโดดเด่น เพื่อเป็นแม่เหล็กภาคท่องเที่ยวและบริการใหม่ ถือเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยมีแผนการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) รวมกว่า 135,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ครอบคลุม 30 จังหวัด

* สร้างความเจริญให้ชุมชน ส่งเสริมและต่อยอดให้เป็นพื้นที่ทำเลทองของเมือง ก่อให้เกิดความเจริญในทุกพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ และเวลเนส เซ็นเตอร์ เป็นต้น

* สร้างการลงทุนให้หลากหลาย ด้วยการขยายการลงทุน เป็น Mixed-Use Development ครอบคลุมศูนย์การค้า ค้าปลีก โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย เน้นการออกแบบก่อสร้างให้คงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์และสอดคล้องกับเอกลักษณ์ในพื้นที่ชุมชน โดยจะมีการขยายธุรกิจต่างๆ ในช่วงปี 66-67 อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 โดยมองว่าจังหวัดนครพนมมีความสำคัญทางด้านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเมืองหน้าด่านการค้าและการท่องเที่ยวสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งตั้งอยู่บริเวณชายแดนติดเมืองท่าแขก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีเส้นทางคมนาคมอันโดดเด่น คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 รองรับการเดินทางและการขนส่งด้านการค้าและการท่องเที่ยว เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน โดยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามและจีนตอนใต้ให้มีมูลค่าการค้าผ่านแดนสูงสุดในประเทศไทย รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟรางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่จะสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้าและบริการได้เป็นอย่างดี โดยจังหวัดนครพนมมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ภาคท่องเที่ยวกว่า 2,200 ล้านบาท

ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จังหวัดหนองคาย งบลงทุน 1,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวในปี 2567 โดยจังหวัดหนองคายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเมืองชายแดนติดกับนครหลวงเวียงจันทน์และแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีจุดผ่านแดนด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน ทำให้เป็นที่นิยมในการเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยของประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งมีแผนพัฒนาระบบขนส่งให้เป็น Transportation Hub ทั้งทางบก ทางราง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ ไทย-ลาว-จีน-คุณหมิง ในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้หนองคายมีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว สูงสุดของประเทศไทย ปีละไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท มีนักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ภาคท่องเที่ยวกว่า 3,350 ล้านบาท ทั้งนี้ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ หนองคาย จะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองรองที่รวมทุกความสุข ก่อให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างมีสีสันและมีชีวิตชีวาของทุกคน

ทั้งนี้ การลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลในจังหวัดนครพนม และหนองคาย จะช่วยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและผลักดันการขยายตัวทางการค้าการลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว อีกทั้งส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนการจ้างงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน

ส่วนภาคกลาง ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ (ไตรมาสแรกปี 67) ตั้งอยู่บนแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridors (NSEC) ที่จะร่วมเติมเต็มศักยภาพและเสริมความแข็งแกร่งให้กับจังหวัดนครสวรรค์ควบคู่กับแผนของภาครัฐที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูงสายเหนือ, รถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด เป็นต้น โดยจังหวัดนครสวรรค์ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย-จีน รวมทั้งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่อีกด้วย, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครปฐม (ไตรมาสสอง ปี 67) เป็นการขยายไปภาคตะวันตกโดยมีนครปฐมเป็นประตูเชื่อมไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ ราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นศูนย์กลางของเมืองรองที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังรุกพัฒนาคน เมือง ประเทศ ด้วย เซ็นทรัล..พัฒนา โดยเฉพาะพัฒนาคน คาดว่าภายใน 5 ปี จะมีพนักงานประจำรวม มากกว่า 100,000 คน และมีการจ้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ ,พัฒนาเมือง ส่งเสริมให้เกิดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่เร่งให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างมีศักยภาพ และพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์การลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัล มีเป้าหมายในการร่วมพัฒนาประเทศ และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับประเทศให้มีรายได้ต่อครัวเรือนให้สูงขึ้น ต่อยอดให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ปั้นเมืองรองให้โดดเด่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นด้วยงบสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ปักธงไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก

ขณะเดียวกัน ยังรุกยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมด้วย เซ็นทรัล..ทำ อาทิ ทำให้สังคมน่าอยู่ ทำการพัฒนาพื้นที่ครอบคลุม 44 จังหวัด ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2565 สร้างรายได้ให้ชุมชนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท สนับสนุนชุมชนกว่า 100,000 ครัวเรือน สร้างอาชีพให้คนพิการ 751 คน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 5,519 ไร่ ในปี 2566 ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,800 ล้านบาท ปลูกป่า 6,500 ไร่ ,ทำเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน ด้วยโครงการจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ปัจจุบันขยายสาขามากกว่า 32 สาขาทั่วประเทศไทย สนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรกว่า 10,000 ครัวเรือน และสร้างรายได้ให้ชุมชน 255 ล้านบาท เป็นต้น