กองทัพเรือแถลงย้ำเดินหน้าซื้อเรือดำนำเพิ่ม 2 ลำ

797
0
Share:

พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการกองทัพเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือหรือทร. แถลงชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือเพิ่มเติมอีก 2 ลำ วงเงินรวม 22,500 ล้านบาทว่า เป็นการจัดซื้อจัดงบประมาณในการจ่ายครั้งเดียวในปี 2564 แต่แบ่ง 7 ปี ดังนั้นข้อมูลต่างๆที่นักการเมืองเสนอมาก่อนหน้านี้ ถือเป็นการสร้างความเกลียดชังให้สังคม และนำเนื้อหาการจัดซื้อมาโจมตีและให้ข่าวที่ผิด จึงขอให้หยุดทำให้ประชาชนเกลียดชังกองทัพ ขอให้เปลี่ยนมุข หยุดสร้างความเกลียดชังและก่อการรวมตัว ตอนนี้นายกรัฐมนตรี มีภาระต่างๆ มากมายอยู่แล้ว
.
ส่วนกรณีการกล่าวหาว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เป็นสัญญาเก๊ ก็ไม่เป็นความจริง จำนำข้าวที่พรรคเพื่อไทยทำต่างหากที่เป็นจีทูจีเก๊ และไม่ถูกต้อง แต่กองทัพเรือทำการซื้อแบบจีทูจีอย่างถูกต้องโปร่งใส ขอสังคมอย่าตกเป็นเหยื่อเรื่องการเมือง
.
ด้าน พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ยืนยันว่า การจัดหาเรือดำน้ำอีก 2 ลำ งบ 2.25 หมื่นล้านบาท เทียบไม่ได้กับความคุ้มค่าในการปกป้องผลประโยชน์ในทรัพยากรทางทะเลของไทยที่มีกว่า 24 ล้านล้านบาท คิดเป็นแค่ 0.093 % เท่านั้น กองทัพเรือพยายามจัดซื้อเรือดำน้ำและดำเนินการในปี 2560 และปี 2563 แม้มีคนกล่าวว่าจะไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ในเร็วๆ นี้ แต่ในทะเลจีนใต้ที่ใกล้ไทยนั้น มีหลายชาติประกาศความเป็นเจ้าของ มีการก่อสร้างสถานี และสนามบินเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุที่อาจทำให้เกิดการปะทะกันได้ หากเกิดการปะทะกัน นี่คือเส้นเลือดใหญ่ของไทยในการค้าและจะมีปัญหาตามมา โดยจะมีปัญหาในเวลาใกล้หรือไกลต้องรอประเมิน
.
ขณะที่ พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ชี้แจงว่า เป็นการตั้งงบแบบผูกพัน ไม่ใช่การตั้งงบใหม่ ซึ่งกองทัพเรือ เข้าใจถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กองทัพเรือ ได้ขอทางการจีนชะลอการจ่ายงวดปี 2563 แล้ว 3,375 ล้านบาท และนำเงินส่วนนี้ส่งคืนให้รัฐบาล ผ่าน พ.ร.บ.โอนงบ 4,130 ล้านบาท คิดเป็น 8.78 % ทำให้ต้องขยับกรอบชำระจากกรอบ 2563-2569 เป็นถึงปี 70 ซึ่งที่ผ่านมา ทร.ก็ตั้งงบโดยคำนึงถึงความประหยัดเป็นหลัก
.
ทั้งนี้หากเป็นการจ่ายตามงบเดิมปี 2563 อยู่ที่ 3,375 ล้านบาท / ปี 2564 อยู่ที่ 3,925 ล้านบาท / ปี 2565 อยู่ที่ 2,640 ล้านบาท / ปี 2566 อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท / ปี 2567 อยู่ที่ 3,060 ล้านบาท / ปี 2568 อยู่ที่ 3,500 ล้านบาท และปี 2569 อยู่ที่ 3,500 ล้านบาท
.
พล.ร.ต.อรรถพล เพชรฉาย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ชี้แจงถึงกรณี ที่ถูกพาดพิง เป็นสัญญาเก๊ เป็นการลงนามที่ไม่รองรับด้วยทางกฎหมายส่อโมฆะ ว่า พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. ในสมัยนั้น เป็นผู้ลงนาม ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย
.
ขณะที่ น.อ.ธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ยืนยันว่า สัญญาจีทูจีเป็นไปอย่างถูกต้อง พร้อมฉายเส้นทาง การลงนามข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 โดย รัฐบาลจีน สั่งการให้ SASTIND มอบอำนาจให้ บริษัท CSOC ก่อนมอบอำนาจให้ Chirman of CsOC มาเซ็นสัญญา ขณะที่ ฝั่งไทย ครม.ได้อนุมัติ ให้ใช้วิธีจัดซื้อแบบจีทูจี มอบอำนาจให้ ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้แทน โดย ผบ.ทร.ในสมัยนั้น ได้มอบอำนาจให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร.ในฐานะ ประธาน กจค.ไปเซ็นสัญญา
.
โดยการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เข้าร่วมการแถลงข่าวพร้อมสอบถามถึงประเด็นปริมาณบุคลากรของกองทัพเรือไทยสูงถึง 75,000 นาย แต่มาเลเซียมีเพียง 15,000 นาย ซึงไทยใช้งบประมาณถึง 20,000 ล้านบาทต่อปีในการจ่ายเงินเดือนบุคลากรหรือคิดเป็น 43 % ของงบประมาณทั้งหมดของกองทัพเรือ จึงได้ถามกองทัพเรือว่าสามารถจัดสรรงบประมาณส่วนนี้มาบริหารจัดการได้หรือไม่ ซึ่งทางกองทัพเรือตอบมาเพียงว่า ได้มีแผนบริหารจัดการอยู่แล้ว แต่ขอมาชี้แจงเรือดำน้ำให้ประชาชนตัดสินใจ