การบินไทยเตรียมประกาศโครงการ ‘เออร์ลีรีไทร์’ วันที่ 15 ต.ค.นี้

746
0
Share:

ภายหลังจาก นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ได้จัดประชุมระหว่างฝ่ายบริหารและพนักงาน เพื่อให้ข้อมูลพนักงานและสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ในที่ประชุมได้มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร 2 โครงการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายพนักงาน เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท โดยเตรียมที่จะประกาศในวันที่ 15 ต.ค.นี้
.
ประกอบด้วย แพ็กเกจ A เป็นโครงการ “ร่วมใจจากองค์กร” (Mutual Separation Plan : MSP A) กำหนดรับสมัครวันที่ 15-31 ต.ค. 2563 ประกาศผล 20 พ.ย. 2563 มีผลบังคับ 1 ธ.ค. 2563

เงื่อนไข คือ พนักงานทุกคนมีสิทธิสมัคร แต่การอนุมัติต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์กลางและหลักเกณฑ์ของหน่วยงานเพื่อรักษา key person ไว้ รวมถึงอายุและผลประเมินการปฏิบัติการ ภาษีที่บริษัทต้องรับผิดชอบให้พนักงาน ส่วนสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เป็นไปตามกำหนดของบริษัท, กองทุนประกันสังคม และเงินทดแทนการว่างงาน

สำหรับเงินตอบแทนผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 – 14.33 เดือนตามกฎหมาย บวก 1 เดือน โดยบริษัทจะผ่อนจ่ายเป็นรายเดือนเริ่ม ม.ค. 2564
.
แพ็กเกจ B ประกอบด้วยโครงการ “หยุดงานไม่รับค่าจ้าง” ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563-30 เม.ย. 2564 โดยเปิดรับสมัคร 15-31 ต.ค. 2563 เป็นการขยายเงื่อนไข Together WeCan นับอายุงานต่อเนื่อง โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 20% ของเงินเดือนปัจจุบัน ทุกเดือน (ไม่รวมค่าตอบแทนอื่นๆ) ส่วนสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เป็นไปตามที่บริษัทฯ และกองทุนประกันสังคมกำหนด

โครงการนี้ข้อดีคือทำให้บริษัทประหยัดเงินได้ทันที ส่วนพนักงานก็สามารถช่วยบริษัทได้ และมีโอกาสตัดสินใจเข้าโครงการ “ร่วมใจจากองค์กร” ( Mutual Separation Plan : MSP B)
.
สำหรับโครงการ “ร่วมใจจากองค์กร” MSP B รอบพิเศษเปิดรับสมัคร 1-15 มี.ค. 2564 ประกาศผล 20 เม.ย. 2564 มีผลวันที่ 1 พ.ค. 2564 เงื่อนไขสำหรับพนักงานที่เข้าโครงการ Leave with out pay ระยะยาวจนสิ้นสุดโครงการแล้วเท่านั้น
.
โดยการอนุมัติ ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์กลางและหลักเกณฑ์ของหน่วยงานเพื่อรักษา key person ไว้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการเป็นไปตามที่บริษัทฯ และกองทุนประกันสังคมกำหนด ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน สำหรับเงิน “เงินตอบแทนโครงการ” 2-14.33 เดือน ตามกฎหมาย บวก 4 เดือน (จ่ายทุกเดือนเริ่ม มิ.ย. 2564)

ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จ (จ่าย พ.ค. 2564) เงินอื่นๆ (เริ่มจ่าย มิ.ย. 2564 เป็นงวดๆ) ข้อดีบริษัทฯ จะเคยชินกับแผนการทำงานใหม่ และวางแผนจัดการด้านเงินได้ ส่วนพนักงานได้ผลตอบแทนมากกว่ากฎหมาย โดยได้รับเงินรายเดือน ส่วนข้อเสีย คือบริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนไปอีกระยะหนึ่ง