การไฟฟ้านครหลวง แจงค่าไฟแพงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม เพราะสาเหตุอะไร

403
0
Share:
การไฟฟ้านครหลวง แจง ค่าไฟฟ้า แพงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม เพราะสาเหตุอะไร

การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ชี้แจง กรณีปรากฏการณ์ “หน่วยไฟ” เพิ่มว่า หากตรวจสอบแล้วหน่วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งที่การใช้ไฟฟ้าเท่าเดิมนั้น สาเหตุหลักจะมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นประเภทต่างๆ จะกินไฟเพิ่ม เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะใช้เท่าเดิมทั้งจำนวนชิ้น และระยะเวลาการเปิดใช้ เนื่องจากหลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ จะพยายามทำความเย็น หรือทำอุณภูมิให้เท่ากับที่เราตั้งค่าไว้ แต่พออากาศร้อนขึ้น เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิให้เท่าเดิมนั่นเอง ส่งผลให้แอร์หรือตู้เย็นทำงานงานหนัก คอมฯทำความเย็นจะทำงานตลอดโดยไม่ตัดเลย ถึงใช้เวลาเท่าเดิมอย่างไรอัตราการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่ม

ดังนั้น หากเทียบบิลค่าไฟฟ้าง่ายๆ โดยย้อนไปดูหน่วยการใช้ไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งขณะนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศจะอยู่ที่ 18-23 องศาเซลเซียส และมาเดือนมีนาคม ที่บางวันอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไป 38-40 องศาเซลเซลเซียสต่างกันถึง 20 องศาเซลเซียส ซึ่งหากคำนวณง่ายๆ ตามสูตรของการไฟฟ้าฯ ที่ได้มีการทดสอบการทำงานของแอร์ 1 ตัว ขนาด 12,000 บีทียู เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการกินไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

การไฟฟ้านครหลวง ได้อธิบายเพิ่มเติม โดยยกตัวอย่างการทดสอบตั้งเครื่องปรับอากาศอุณภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง พบว่าจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.69 หน่วยต่อชั่วโมง แต่หากอุณหภูมิภายนอกห้องเพิ่ม 6 องศา เป็น 41 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง เครื่องปรับอากาศดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.79 หน่วยต่อชั่วโมง หรือเครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 14%

ทั้งนี้ จากผลการทดสอบดังกล่าว หากคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 3.9 บาท จะพบว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2.69 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 3.08 บาทต่อชั่วโมง

และจากค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกัน หากสมมุติการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงต่อวันนาน 30 วัน การใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 646 บาท และการใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 739 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าเดิม 93 บาทต่อการใช้เครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง ดังนั้นแนะนำในการประหยัดค่าไฟคือ ประชาชนต้องหมั่นล้างแอร์ปีละ 2 ครั้ง และเพิ่มการเปิดพัดลมช่วยทำให้อุณหภูมิต่ำลง แอร์จะทำงานหนักน้อยลง