“กิตติรัตน์” วอนลูกหนี้-เจ้าหนี้นอกระบบ เร่งลงทะเบียน-ขู่แบงก์ ไม่ร่วมคลินิกแก้หนี้

124
0
Share:
"กิตติรัตน์" วอนลูกหนี้-เจ้าหนี้นอกระบบ เร่งลงทะเบียน-ขู่แบงก์ ไม่ร่วม คลินิกแก้หนี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบว่า ขอเรียกร้องให้ลูกหนี้นอกระบบ มีความกล้าหาญในการมาลงทะเบียนตามจุดรับลงทะเบียนต่างๆ ทั่วประเทศ หากไม่มีความกล้าหาญรัฐบาลก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ตามความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี จึงขอให้มั่นใจว่าการมาลงทะเบียน ถือเป็นการยืนยันว่าลูกหนี้จะได้รับการคุ้มครอง ดูแล และแก้ไข

ขณะนี้มีจำนวนลูกหนี้นอกระบบ ที่ไม่มาลงทะเบียนอีกประมาณ 4 แสนราย จึงอยากให้ลูกหนี้นอกระบบเข้ามาลงทะเบียนเพื่อที่รัฐจะได้ให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะคนที่จ่ายดอกมากกว่า 10-20% ต่อเดือน และขอเรียกร้องให้เจ้าหนี้ได้เข้ามาร่วมลงทะเบียนด้วย เพราะหน้าที่รัฐจะคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย

“ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องใช้หนี้ที่ยืมมา แต่ไม่มีหน้าที่จ่ายดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งเจ้าหนี้อาจยังไม่ได้รับชำระหนี้จำนวนเงินต้นที่มีอยู่ ดังนั้นเจ้าหนี้จะได้รับความคุ้มครองจากกลไกในการลงทะเบียนด้วยเช่นกัน หนี้นอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยจำนวนมากๆ ในอัตราสูงท่วมเงินต้น ควรจะถือว่าจบกันแล้ว การที่เจ้าหนี้ยังคงคิดว่าจะเรียกร้องดอกเบี้ยต่อเนื่อง เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย” นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับหนี้ในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ที่จัดสินเชื่อสวัสดิการให้กับข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น ได้ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงมาในระดับที่เหมาะสมกับความเสี่ยง โดยอยู่ที่ 4.75% และเชื่อว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง จะให้ความร่วมมือลดอัตราดอกเบี้ยลง และข้าราชการจะได้มีเงินเหลือเพียงพอกับการดำรงชีพ ไม่น้อยกว่า 30% ทั้งนี้ หลายส่วนราชการกำลังดำเนินการที่จะประกาศในลักษณะเดียวกัน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีหรือข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องขอบคุณคณะกรรมการและสหกรณ์ที่ให้ความร่วมมือ

ส่วนที่เป็นธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินบางแห่ง ที่ได้ร่วมให้สินเชื่อสวัสดิการกับข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ก็พบว่ามีความคืบหน้า นำไปสู่อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต่ำ ซึ่งตนมั่นใจว่าข้าราชการทั้งหมด จะมีเงินเหลือหลังจากชำระหนี้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ได้ขอบคุณธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ที่ให้ความร่วมมือกับแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีกลไกที่เรียกว่า “คลินิกแก้หนี้” ทำให้ลูกหนี้สามารถกำหนดเงินต้น และผ่อนชำระคืนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน 3-5% แต่ยอมรับว่า ยังมีสถาบันการเงินและธนาคารบางแห่ง ยังไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าเครดิตแก้หนี้ ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อไป เพื่อขอร้องให้สถาบันการเงินเหล่านั้นมาให้ความร่วมมือเหมือนกับสถาบันการเงินอื่นๆ

การกำหนดค่าผ่อนชำระต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีระเบียบข้อกำหนดในการชำระหนี้ ซึ่งไม่ใช่ชำระแต่ดอกเบี้ยไปตลอด แต่ยอดเงินต้นจะต้องปรับลดลงด้วย ขณะที่บางธนาคารไม่ยอมตัดเงินต้น แต่ตัดเฉพาะดอกเบี้ยนั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ธปท.จะต้องเอาผิดกับธนาคารนั้นๆ แต่หาก ธปท.ไม่เอาผิด ก็ถือว่า ธปท.มีความผิด พร้อมยืนยันว่า การแก้ปัญหาหนี้มีความคืบหน้าในทุกภาคส่วน สถานะลูกหนี้ที่เป็น NPL ลดลง ซึ่งคณะทำงานยังคงทำงานอย่างเต็มที่ไม่เว้นวันหยุด เพื่อทำให้ความคืบหน้านี้บรรลุเป้าหมาย จนกระทั่งการแก้ไขหนี้ทั้งระบบเบ็ดเสร็จภายในระยะเวลาของรัฐบาล

ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ รหัส 21 นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อใกล้จะครบระยะเวลากำหนดในการปิดหนี้ ตามเงื่อนไขเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลเดิมที่ช่วยและรับผิดชอบ NPL ให้จำนวนหนึ่ง ซึ่งข้อมูลปัจจุบันอยู่ที่ 630,000 ราย แต่ว่าไม่เกินกลางปีนี้ จะชำระคืนได้เบ็ดเสร็จ 1.1 ล้านราย เพราะขณะนี้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการอยู่ แต่ระหว่างนี้ก็จะมีเพิ่มขึ้น