ก.ล.ต ชี้ยังไม่เห็นสัญญาณบริษัท STARK จะเลื่อนส่งงบฯ ซ้ำสอง ย้ำไม่เคยอยู่เฉย

265
0
Share:
ก.ล.ต ชี้ยังไม่เห็นสัญญาณบริษัท STARK จะเลื่อนส่งงบฯ ซ้ำสอง ย้ำไม่เคยอยู่เฉย

นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า วันนี้ 12 มิถุนายน 2566 ผู้ลงทุนหุ้นกู้ STARK ได้เข้ามาพบกับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยประเด็นหลักๆ คือต้องการเข้ามาให้ข้อมูลและข้อสังเกตในส่วนที่ได้ตรวจพบมา รวมถึงสอบถามความคืบหน้าว่าสำนักงานได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง

สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมานั้นได้มีการทำงานมาโดยตลอดตามที่จำเป็น และเห็นสมควร และยืนยันว่าไม่เคยนิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพียงแต่ไม่สามารถลงรายละเอียดในเรื่องนี้ได้ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายยังมีข้อจำกัดในการเปิดเผยข้อมูล จึงเป็นสิ่งที่ได้แจ้งทางผู้ถือหุ้นกู้ไป และทางผู้ถือหุ้นกู้เองก็รับฟังและเข้าใจในส่วนนี้

ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวต่อไปว่า ยังคงต้องรอว่าเมื่อครบกำหนดวันที่ 16 มิ.ย.นี้ บริษัท STARK จะมีการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินหรือไม่ ซึ่งหากบริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลแล้ว แต่ทาง ก.ล.ต.เห็นสมควรว่าควรจะมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก.ล.ต.ก็จะมีการแจ้งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเพื่อให้นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจ

สำหรับความกังวลเรื่องของการนำส่งข้อมูลต่างๆ ในปัจุบัน บริษัท STARK ยังไม่ได้มีการแจ้งถึงการเลื่อนการส่งข้อมูลงบการเงินใดๆ ดังนั้น คงต้องรอติดตามในวันดังกล่าว

หากเกิดกรณีที่บริษัทไม่สามารถส่งงบฯได้ตามกำหนดในวันที่ 16 มิ.ย. และไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต. ได้มีการติดต่อทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการที่จะดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงก็ได้มีการเปิดศูนย์ข้อมูลหุ้นกู้ เพื่อให้นักลงทุนติดตามข้อมูลได้โดยตรง

ข้อมูลผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท STARK ในปัจจุบันมีทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 40,000 ราย แต่ในส่วนของรายย่อยที่ได้รับผลกระทบคงต้องรอติดตามข้อมูลที่ทางบริษัทจะเปิดเผยออกมาอีกที

กรณีหุ้นกู้ที่เดิมเสนอขายให้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน แต่มีการปล่อยออกมาให้นักลงทุนรายย่อยซื้อได้นั้น สำนักงาน ก.ล.ต.เองก็ได้มีการรับเรื่องส่วนนี้ และจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป ว่าหากมีสิ่งผิดปกติก็จะดำเนินการแก้ไข รวมถึงที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือควรที่จะมีการยกระดับหรือแก้ไขอย่างไร