ของดีต้องดูดีๆ! หมอมานพชี้วัคซีนไฟเซอร์ในอิสราเอล แท้จริงแล้วยิ่งกว่าได้ผล กันติดเชื้อพันธุ์อินเดียได้ดี

631
0
Share:
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์​แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ และแอสตร้าเซเนก้าในการป้องกันติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) โดยดูจากประเทศอิสราเอล มีดังนี้
ข่าว Delta variant ระบาดในอิสราเอล แปลว่าวัคซีนไม่ได้ผลจริงหรือ?
.
สองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนได้อ่านข่าวเรื่อง Delta variant ระบาดในอิสราเอลจากสื่อต่าง ๆ รวมถึง นักวิชาการ หรือแม้กระทั่งทีมประชาสัมพันธ์ของ ศบค เองก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในทำนองว่า ประเทศที่มีการฉีด mRNA vaccine ไปมากแล้วก็ยังมีการระบาด แถมผู้ติดเชื้อ 50% เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ข่าวนี้หลายคนเกิดความสับสน ตกลงว่าวัคซีนที่เขาใช้คือ Pfizer vaccine มันได้ผลดี หรือไม่ได้ผลอย่างที่หลายคนให้ข่าวกันแน่
ตอนได้ยินครั้งแรก ๆ ก็รู้สึกเฉย ๆ แต่คิดอีกที ถ้าปล่อยไว้คนก็คงจะเข้าใจผิด แถมข้อมูลผิด ๆ นี้ก็จะถูกหยิบขึ้นมาใช้อ้างกันต่อไปไม่สิ้นสุด เลยถือโอกาสอธิบายให้เข้าใจ
.
สำหรับข่าวข้างต้น คนที่เข้าใจเรื่องโรคระบาดและข้อมูลทางวิชาการดี จะรู้ทันทีว่านี่ไม่ใช่ข่าวร้าย แต่เป็น “ข่าวดี” ต่างหาก เพราะอะไรเรามาดูกัน
การระบาดรอบใหม่ของอิสราเอลจาก Delta variant เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นจากไม่กี่สิบรายต่อวัน กลายเป็นหลักร้อยในวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดอยู่ที่ 290-300 รายต่อวัน
ข่าวนี้แสดงว่าวัคซีนที่ปูพรมฉีดเป็นวงกว้างนั้นไม่ได้ผลหรือไม่ คำตอบคือ ได้ผลและได้ผลดีมากด้วย
.
ถ้าเราย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2020 ต่อต้นปี 2021 ในขณะที่อิสราเอลมีการระบาดของ Alpha variant ทั้งประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่วันละหลายพันราย บางวันทะลุหมื่นราย จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศ full lockdown เพื่อสกัดการระบาด และตามด้วยการฉีดวัคซีน Pfizer ปูพรมทั้งประเทศอย่างรวดเร็ว จนทำให้การระบาดสงบได้ และทยอยเปิดเมืองทีละขั้น จนอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องใส่หน้ากาก และสามารถทำกิจกรรมรวมคนหมู่มากได้ มีวิถีชีวิตใกล้เคียงปกติ
เมื่อดูสถานการณ์การระบาดปัจจุบัน เราทราบดีว่า Delta variant นั้นมีความสามารถในการแพร่ระบาดดีกว่า Alpha มาก และยังดื้อต่อวัคซีนด้วย เรากลับไม่เห็นอัตราเร่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่แบบเดิมอีก ในขณะที่ผู้คนยังคงใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิม มีการปรับมาตรการให้ใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในอาคารหรือสถานที่ปิด และเลื่อนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม ที่เหลือยังคงเดิม
.
ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเป็นผลจาก herd immunity ที่เราอยากเห็นนั่นเอง แต่อย่าเข้าใจผิด herd immunity ไม่ได้แปลว่าต้องไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือไม่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มสูงขึ้น การติดเชื้อยังเกิดได้อยู่ และผู้ที่ได้วัคซีนบางคนก็ยังอาจติดเชื้อได้ แต่ใน diagram ขวามือ ภาพล่าง จะเห็นว่าเมื่อในสังคมหรือชุมชนมีสัดส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเป็นจำนวนมากแล้ว การระบาดของโรคจะเกิดได้ยากขึ้นมาก จำนวนผู้ติดเชื้อจะถูกจำกัดวง มีจำนวนไม่มากนัก และมักเกิดในผู้ที่ยังไม่ได้วัคซีนเป็นส่วนใหญ่ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นต่างหาก
.
อีกประเด็นที่ต้องชี้ให้เข้าใจ คือการเห็นข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ราวครึ่งนึงเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ข่าวนี้แปลว่าประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงมากจนกันแทบไม่ได้แล้วหรือไม่ … คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ไม่ วัคซีนยังมีประสิทธิภาพสูงมาก เรื่องนี้เราเรียกว่า base rate bias ตาม diagram ด้านล่างสุด แม้การนับจำนวนผู้ติดเชื้อจะพบว่าเท่ากันระหว่างคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว และยังไม่ได้วัคซีน แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบซึ่งสูงมากในอิสราเอล จะเห็นชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก ข้อมูลจากการระบาดปัจจุบัน คำนวณได้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป่วยจาก Delta variant น่าจะอยู่ที่ราว 85%
.
ทีนี้หันมาดู UK บ้าง ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากเช่นกัน และควบคุมการระบาดจาก Alpha variant ได้ดี เหตุใดจึงเกิดการระบาดของ Delta จนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงมาก ต่างจากอิสราเอล
สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากวิธีการกระจายวัคซีนที่ต่างกัน เราทราบดีว่า UK เป็นตัวอย่างของประเทศที่เลือกระดมฉีดวัคซีน “เข็มแรก” ไปก่อนให้กว้างขวางที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อสกัดการระบาดเมื่อตอนปลายปีจนถึงต้นปีนี้ และสามารถควบคุมการระบาดของ Alpha variant ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากทั้ง Pfizer และ AstraZeneca vaccine เพียงเข็มเดียว แม้จะเป็น partial immunity แต่ก็เพียงพอต่อการยับยั้ง Alpha variant ได้ดี
.
ในขณะที่ Delta variant นั้นไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ จำเป็นที่ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็ม (full immunity) โดยเร็ว ข้อมูลนี้สอดคล้องไปกับผลการทดสอบ immune evasion ในห้องปฏิบัติการที่พบว่า NAb จากผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียวไม่เพียงพอต่อการยับยั้งเชื้อ Delta variant จำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็ม ในขณะที่อิสราเอลนั้น ยึดถือการฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ตามข้อมูล phase 3 trial ประชาชนส่วนใหญ่จึงมี full immunity และสามารถสกัดการระบาดของ Delta variant ได้ดีกว่า (อย่างไรก็ดี การมี partial immunity ของ UK ยังมีประโยชน์ในแง่อัตราการป่วยต้องเข้า รพ. และอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้เพิ่มตามอัตราการติดเชื้อ)
.
ข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของ herd immunity ที่สามารถหยุดหรือลดทอนการแพร่ระบาดได้จริง และการใช้วัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงมาก สามารถรับมือการระบาดต่อสายพันธุ์ที่ดื้อและแพร่เร็วอย่าง Delta variant ได้ดีทีเดียว แน่นอนว่า ยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ของอิสราเอลจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต แต่ข้อมูลการระบาดที่ผ่านมา น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงบ้านเราด้วยว่า วัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพสูง ช่วยหยุดการระบาดได้ดี และการปูพรมวัคซีนเป็นวงกว้าง ช่วยสร้าง herd immunity effect ได้ แม้จะยังไม่ดีนักเนื่องจากสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิยังไม่สูงพอ (ขณะนี้สัดส่วนของประชากรอิสราเอลที่ได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 65%) คงจะต้องใช้เวลาอีกซักพัก แต่เราเห็นผลของมันได้แล้วจริง ๆ
หวังว่าคำอธิบายนี้ จะช่วยทำให้คนอ่านข่าวอิสราเอลเข้าใจได้มากขึ้น และช่วยกันแก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้องกันครับ