ขีดแข่งขันไทยร่วงหนัก 5 อันดับโลก แตะอันดับ 33 จากกว่า 60 ชาติ

372
0
Share:
ขีดความสามารถการแข่งขันโลก

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือทีเอ็มเอ (TMA) เปิดเผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยศูนย์ขีดความสามารถการแข่งขันโลก หรือ World Competitiveness Center แห่งสถาบันการพัฒนาการจัดการนานาชาติ หรือ International Institute for Management Development ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พบว่า อันดับขีดความสามารถการแข่งขันโลกประจำปี 2565 ของประเทศไทยร่วงลงถึง 5 อันดับ ลงมาอยู่ในอันดับที่ 33 จากการจัดทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ

ที่สำคัญ ประเทศไทยมีอันดับลดลงในทุกกฎเกณฑ์การชี้วัด ได้แก่ ปัจจัยเศรษฐกิจ (Economic Performance) ไทยมีอันดับลดลงถึง 13 อันดับ สาเหตุจากการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ไทยมีอันดับลดลง 11 อันดับจากอันดับที่ 20 ในปี 2564 ร่วงลงมาเป็นอันดับที่ 31 ในปี 2565 สาเหตุจากด้านการคลังโดยเฉพาะตัวชี้วัดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ พบว่าไทยมีอันดับลดลงจากที่ 15 และ 8 อันดับตามลำดับ

ปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 21 มาอยู่ที่อันดับ 30 หรือตกต่ำถึง
9 อันดับ โดยประเด็นด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพยังคงเป็นปัญหาหลักและมีอันดับลดลงถึง 7 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 47 ในปีนี้ และปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ไทยมีอันดับลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 43 มาอยู่ที่อันดับ 44

สำหรับระดับอาเซียน พบว่า ประเทศสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง มีอันดับดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 5 ใน 2564 มาเป็นอันดับที่ 3 ปีนี้ มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 33 ซึ่งลดลงจากอันดับที่ 25 ในปีผ่านมา และอินโดนีเซียมีอันดับที่ลดลงจากอันดับที่ 37 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับที่ 44 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศฟิลิปปินส์มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 52 เป็นอันดับที่ 48 ในปีนี้

เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2565 ได้แก่ อันดับ 1 เดนมาร์ก อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 สวีเดน และอันดับ 5 ฮ่องกง โดย IMD พบว่าเขตเศรษฐกิจที่อยู่อันดับต้นๆ ของโลกในปีนี้เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller economies) ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Advanced digital technologies) มีนโยบายสนับสนุนที่ดี (Good policies) มีความชัดเจนในการส่งเสริมด้านความยั่งยืน (Sustainability) มีภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการปรับตัวสูง (Agile companies) รวมถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government efficiency) ที่แข็งแกร่ง ทำให้เขตเศรษฐกิจเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัวในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทั้งจากผลกระทบของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) และการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา