คนรวยไปต่อ! แบงก์ชาติเปิดตัวเลขคนไทยขนเงินลงทุนต่างประเทศเป็นประวัติการณ์ยุคโควิด-19 ระบาด

461
0
Share:

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายเกณฑ์ที่มากขึ้น พบว่า การลงทุนในต่างประเทศของคนไทยปรับเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขไตรมาส 4 ปี 63 ถึงพ.ค. 64 รวม 9 เดือน พบคนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศกว่า 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากไปเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีค่าเฉลี่ยออกไปลงทุนเพียง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

นอกจากนี้ ภาวะที่เอื้อต่อการลงทุนต่างประเทศ ทำให้ดัชนี home-bias ของคนไทยลดลงจากสัดส่วน 95% มาอยู่ที่ 93% สะท้อนคนไทยมีแนวโน้มการกระจายการลงทุนในต่างประเทศที่ดีขึ้น และหากดูตัวเลขการลงทุน 17,800 ล้านดอลลารสหรัฐ หรือกว่า 569,600 ล้านบาท คิดเป็นบุคคลธรรมดาถึง 14,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 464,400 ล้านบาท ที่ออกไปลงทุนในแพลตฟอร์มต่าง ๆ และในแง่จำนวนรายก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 15,000 ราย เป็น 30,000 ราย

ในช่วงที่ผ่านมานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการหลายมาตรการด้วยกัน ได้แก่ การปรับเกณฑ์การเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่มีข้อจำกัดทั้งการฝากและโอน และค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ค่าธรรมเนียมสูง โดยภายหลังการผ่อนคลายและลดข้อจำกัดต่าง ๆ พบว่าการใช้บัญชี FCD ทยอยปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนบัญชีในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 203,973 บัญชี และผู้ใช้บริการ 146,725 ราย และมูลค่าธุรกรรมฝากถอนเฉลี่ยต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 140 พันล้านดอลลาร์ จากก่อนผ่อนคลายเกณฑ์อยู่ที่ 102 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นมา 40%

ถัดมา คือ การผ่อนคลายเกณฑ์ลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเพิ่มวงเงินลงทุนรายย่อยเป็น 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี และยกเลิกการจัดสรรวงเงินลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันภายใต้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และยกเลิกการจำกัดวงเงินของการลงทุนผ่านตัวแทน รวมถึงขยายขอบเขตสินทรัพย์ FX ที่สามารถซื้อขายในประเทศ ให้รวมถึงตราสารทางการเงินทุกประเภท และการซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์