คนว่างงานไตรมาสสาม 4 แสนคน

788
0
Share:

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สภาพัฒน์ได้รวบรวมข้อมูลภาวะสังคมประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2562 พบว่า เป็นผู้มีงานทำอยู่ 37.5 ล้านคน ลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเป็นผู้ว่างงานอยู่ประมาณ 4 แสนคน หรืออัตราว่างงานอยู่ที่ 1.04% เพิ่มขึ้นจาก 0.98%ในไตรมาสก่อนหน้าและ 0.94% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
.
โดยการว่างงานดังกล่าวเป็นการว่างงานในกลุ่มผู้เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 8.4% สวนผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 3 % ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยหากเมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 2.15% รองลงมาเป็นผู้จบอาชีวศึกษา วิชาชีพชั้นสูง มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า
.
แม้เศรษฐกิจไตรมาส 3 จะชะลอตัวแต่ก็กระทบตลาดแรงงานไม่มากนัก แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามคือการมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 1.72 แสนคน หรือคิดเป็น 1.5% ต่อจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สูงที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 ที่มีสัดส่วนที่ 2.2%

.
ส่วนกรณีคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีภาวะธุรกิจ คำสั่งซื้อในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงการทำงานล่วงเวลาลดลง โดยในไตรมาสที่ 3 จำนวนผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 7.9% เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 และพบว่าสถานประกอบการขอใช้สิทธิมาตรา 75 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้สถานประกอบการสามารถหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 75% ของค่าจ้างได้ โดยไตรมาสที่ 3 มีจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้ประมาณ 48,015 คน จากสถานประกอบการ 93 แห่งทั่วประเทศ
.
ด้านหนี้ครัวเรือนข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาสที่2 พบว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สิน 13.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% แต่ก็เป็นการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 6.3% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสสองชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่วนคุณภาพสินเชื่อถือว่าอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่า 1.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.81% ต่อสินเชื่อรวม