คนไทยสะดุ้ง ทำไมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลกลับไม่ช่วยลดค่าครองชีพ

405
0
Share:
ค่าครองชีพ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้วิเคราะห์กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค.65 ออกไปอีก 2 เดือน และให้ลดภาษีจากลิตรละ 3 บาท เป็นลิตรละ 5 บาทนั้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลงจากกรณีไม่มีมาตรการดังกล่าว โดยเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.65 จะลดลง 0.08% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.64 ส่วนเดือน มิ.ย.65 ลดลง 0.21% เทียบเดือน มิ.ย.64 และเดือน ก.ค.65 ลดลง 0.15% เทียบเดือน ก.ค.64 ซึ่งถือว่าลดลงไม่มากนัก ดังนั้น การขยายโครงการครั้งนี้ อาจช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้ เพราะสินค้าและบริการบางส่วนได้ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้ว อาทิ อาหารสำเร็จรูป ก๊าซหุงต้ม เครื่องประกอบอาหาร ฯลฯ แต่มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและภาคการขนส่งลดลง รวมทั้งอาจจะช่วยชะลอการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการออกไป หรืออาจเป็นการปรับราคาสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง

ด้านร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมได้เชิญห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ชั้นนำ 6 แห่งมาหารือเพื่อติดตามภาวะราคาและปริมาณสินค้าอาหารและของใช้จำเป็นในช่วงเปิดเทอม โดยพบว่าความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 10% แต่ได้จัดเตรียมสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นแล้ว ไม่ได้เกิดปัญหาขาดแคลน ทั้งอาหารสด ไข่ไก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ น้ำมันพืช สำหรับราคาอาหารสดโดยเฉพาะไข่ไก่ขณะนี้ทรงตัว ไม่น่าปรับขึ้นอีกเพราะกำลังซื้อมีไม่มาก หากปรับขึ้นราคา จะกระทบยอดขายได้ นอกจากนี้ การจัดส่งสินค้าของซัพพลายเออร์ (ผู้ผลิต) ยังปกติ ได้รับสินค้าตามปริมาณที่สั่ง ไม่ได้ลดลง

สำหรับสินค้าที่กรมติดตามดูแลประจำเดือน พ.ค.65 มีทั้งสิ้น 219 รายการ เพิ่มจากเดือน เม.ย.65 จำนวน 1 รายการ คือ ที่นั่งนิรภัยสําหรับเด็ก (คาร์ซีต) โดยแบ่งเป็น 3 บัญชี คือ 1.สินค้าอ่อนไหวเป็นพิเศษติดตามราคาและภาวะเป็นประจำทุกวัน หรือ Sensitive List (SL) 21 รายการ ลดลงจากเดือน เม.ย. 3 รายการ โดยถอดผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ แอลกอฮอล์ล้างแผล และยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรออก เนื่องจากภาวะราคาทรงตัว ส่วน 21 รายการที่เหลือ เช่น สุกรชำแหละ, ไก่สด, ไข่ไก่, หน้ากากอนามัย, ชุดตรวจเอทีเค เป็นต้น

2.สินค้าที่ติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือ Priority Watch List (PWL) จำนวน 7 รายการ โดยเพิ่มสินค้าเครื่องแบบนักเรียนเข้ามาอยู่ในรายการนี้ เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม ป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคา โดยสินค้า 7 รายการ คือ เครื่องแบบนักเรียน, ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ, ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างแผล, ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร, สบู่, ผลิตภัณฑ์ล้างจาน และอาหารปรุงสำเร็จ

และ 3.สินค้าที่ติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุก 15 วัน หรือ Watch List (WL) จำนวน 191 รายการ เช่น ไข่เป็ด, เนื้อโค, แป้งสาลี, ซอสหอยนางรม และนมข้นหวาน เป็นต้น