คนไทยเงินไม่พอจ่าย แบกหนี้หลังงอ กว่าครึ่งมีสภาพคล่องเงินเหลือแค่ 6 เดือน

548
0
Share:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคไทยเป็นจำนวน 3,205 คน ในช่วงระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 27 กันยายน 2564 ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมในช่วงโควิด-19 และแนวโน้มหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง

ศูนย์วิจัย EIC พบว่า รายได้ของผู้บริโภคไทยจำนวนมากถูกกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่รายได้ไม่พอใช้จ่าย ภาระการชำระหนี้ และสภาพคล่องทางการเงิน โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับปัญหามากที่สุด ผู้บริโภคเกือบครึ่ง หรือ 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีรายได้ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ยังพบว่ามีถึง 30% ของผู้บริโภคที่มีรายได้ที่ลดลงมากกว่า 10% ขึ้นไปเมื่อเทียบกับระดับรายได้ก่อนโควิด-19 ขณะที่มีผู้บริโภคเพียง 24% เท่านั้นกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกัน

ผลสำรวจ พบว่ามีถึง 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ที่กำลังเผชิญปัญหารายได้ ไม่พอรายจ่ายไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ เกินครึ่ง หรือประมาณ 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่กำลังเผชิญปัญหาในการชำระหนี้ และ 52% ยังมีสภาพคล่องทางการเงินไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้ EIC พบว่า มีคนจำนวนถึง 31% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดที่กำลังเผชิญ 3 ปัญหาดังกล่าวพร้อมกัน

ศูนย์วิจัย EIC ยังพบว่าผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย หรือมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน กลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจมากที่สุดใน 3 ปัญหาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตที่กระทบผู้มีรายได้น้อยรุนแรงกว่า หากมองในกลุ่มคนมีรายได้น้อย จะพบว่า มี 63% มีรายได้ลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา
ในทำนองเดียวกัน ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายของคนกลุ่มรายได้น้อยมีถึง 87% คนมีปัญหาภาระหนี้ถึง 78% และคนมีปัญหาสภาพคล่องถึง 71%

ทั้งนี้ สำหรับมุมมองในปี 2565 พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่ารายได้จะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับที่เคยได้ในช่วงก่อนโควิด-19 ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป แต่ยังมีความระมัดระวังกับแผนการใช้จ่ายในระยะข้างหน้า ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้สูงจำนวนครึ่งหนึ่ง คาดว่ารายได้ของตนเองจะฟื้นกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ที่น่าสนใจ คือผู้บริโภคถึง 16% เชื่อว่ารายได้ตนเองไม่มีทางกลับมาเท่ากับก่อนโควิด-19 ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรายได้น้อย และเป็นคนทำงานในภาคการท่องเที่ยว และค้าส่ง-ค้าปลีก