คนไทย 3 รุ่น เจนเอ็กซ์–วาย–ซี เปลี่ยนมุมคิด ทำงานอย่างเดียวรวยไม่ทันใจ หันไปบนบานขอพรหวังเงินงานรุ่ง

135
0
Share:
คนไทย 3 รุ่น เจนเอ็กซ์–วาย–ซี เปลี่ยนมุมคิด ทำงานอย่างเดียวรวยไม่ทันใจ หันไป มูเตลู บนบานขอพรหวังเงินงานรุ่ง

นายกรรณ ทองศรี ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ ฮาคูโฮโด อาเซียน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มคนไทยใน 3 เจนเนอเรชั่นใหญ่ ได้แก่ เจนเอ็กซ์(X) เจนวาย(Y) และเจนซี(Z) มีความเชื่อในเรื่องมูเตลู หรือการพึ่งพาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยคนไทยมีความเชื่อเรื่องมูค่อนข้างสูงกว่า 88% นอกจากนี้ มี 65% ของคนที่เชื่อสายมู มองว่าการมูเป็นเรื่องส่วนตัว สาเหตุจากอาจจะมีปัญหาบางอย่าง หรือความปรารถนาบางสิ่งที่ไม่สามารถบอกใครได้ จึงเก็บสิ่งนี้ไว้บอกผ่านการมู

คนไทยสายมูกว่า 44% มองว่าทำงานไปเท่าไหร่ก็ไม่รวย รองลงมาอันดับ 2 เป็นเรื่องโชคลาภ 17% ซึ่งเรื่องโชคลาภก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเงินอยู่ดี ที่น่าสนใจคือการทำงานมาอยู่อันดับที่ 4 หรือเพียงแค่ 8% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ทำให้คนไทยเชื่อว่าการทำงานเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบสำหรับการนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินได้ นอกจากนี้ ความรู้สึกของความไม่มั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนไทยรู้สึกไร้ที่พึ่ง ดังนั้น กว่า 52% ของคนไทยจึงมองการมูเตลูเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ รองลงมา 21% เป็นเครื่องเสริมความมั่นใจ 21% และ 13% เป็นผู้บันดาลในสิ่งที่ต้องการ

ที่น่าสนใจ คือ ผู้ชายสายมูเป็นเพราะต้องการคนรับฟัง ในขณะที่ผู้หญิงสายมูต้องการคนฟันธง ซึ่งคนไทยสายมูกว่า 30% นิยม MU Action หรือการกราบไหว้บูชา หรือการปฏิบัติตามวิถีต่างๆ ตั้งแต่ การบูชาเทพทั้งในศาสนาของตัวเอง และต่างศาสนา ไปจนถึงการใช้เครื่องรางของขลัง การใช้เลขมงคล สีมงคล เป็นส่วนประกอบต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมความมั่นใจ เสริมพลังต่างๆ และรอให้เทพบันดาลผล

นางสาวพร้อมพร สุภัทรวณิช รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลุยทธ์ ฮาคูโฮโด อาเซียน กล่าวว่า คนไทยต่างวัยมีวิธีการมูเป็นของตัวเอง เริ่มจากคนไทยเจนเอ็กซ์(X) จะเป็นประเภท The Ritual Believer โดยจะเน้นการมูแบบวิถีดั้งเดิมเนื่องจาก คนไทยเจนเอ็กซ์ หรือผู้คนที่อยู่ในช่วงอายุ 43–58 ปี เป็นวัยที่เติบโตในช่วงเริ่มต้นทุนนิยมในประเทศไทย ยืนหนึ่งเรื่องความพยายาม เน้นการยึดหลักปฏิบัติและธรรมเนียมที่มีมาแต่รุ่นก่อน และมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องนี้ภูมิใจ เน้นการสวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญทำทานโดยมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการเสริมความหวังและกำลังใจให้แก่ตนเอง

คนกลุ่มนี้มองว่าตัวเองคือที่มาของความสำเร็จทั้งการงาน การเงินต่างๆ ดังนั้นการมูจึงเป็นเพียงตัวช่วยท็อปอัพความพยายามนั้น โดยรวมแล้วคนวัยนี้จะมูเรื่องเงินเป็นหลัก แต่มีนัยสำคัญคือ สุขภาพและความมั่งคั่ง เพราะเป็นสิ่งเพิ่มความมั่นใจว่าชีวิตจะไม่สะดุดสามารถลุยงานและเอนจอยชีวิตโค้งสุดท้ายได้

ส่วนคนไทยเจนวาย(Y) เป็นประเภท The Curated Explorer ถือเป็นรุ่นที่มูที่ไม่มีข้อจำกัด มีบุคลิกเฉพาะตัวคือ เปิดรับ และปรับตัวเก่ง เจนวายเป็นคนในช่วงอายุ 27–42 ปี เติบโตมาในช่วงจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นยุครอยต่อระหว่างอนาล็อกไปดิจิตอล จึงมีการเปิดรับและปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี คนไทยเจนวายจึงเปิดกว้างให้กับความศรัทธาแบบไร้ขีดจำกัด ได้ทุกศาสนาและความเชื่อ ที่จะสามารถมอบผลลัพธ์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการแบบเฉพาะเรื่องเปรียบเสมือนเป็นผู้นำที่คอยนำทางและนำพาสิ่งดีๆ ให้กับชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นวัยสร้างตัว จึงมักได้ชื่อเล่นว่าเป็นเดอะแบก คือมีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และครอบครัวของตัวเอง ดังนั้น จึงโฟกัสกับการเงินและการงานมากกว่าคนรุ่นเจนอื่น โดยมีเป้าหมายความมั่นคงและก้าวหน้าในชีวิต ซึ่งหากสามารถทำตรงนี้ได้ดี จะเป็นการเพิ่มความภูมิใจและความชื่นชมของตัวเอง

ต่อมาเป็นคนไทยเจนซี(Z) เป็นประเภท The Minimal Integrator จะเน้นมูแบบมินิมอล มีการปรับตัวผสมาผสานแบบเนียนๆ อยู่ในรูปแบบของแฟชั่นและสีสันในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นเด็กช่วงอายุ 11–26 ปี เติบโตในยุคดิจิตอลพร้อมปรับเปลี่ยน เพื่อสิ่งใหม่ๆ และมีความสุขกับชีวิตได้ทุกสถานการณ์

การมูที่ชาว Gen Z นำมาปรับใช้เพื่อเป็น ลูกเล่นทั้งในด้านการสนับสนุนและเยียวยาจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกสวมใส่เสื้อผ้าสีมงคล เครื่องประดับมงคลชิ้นเล็กๆ หรือ แม้แต่วอลเปเปอร์บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

การงานและการเรียนคือสิ่งที่คนไทยเจนซีขอจากการมูเตลูมากกว่าคนเจนอื่นๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังอยู่ทั้งในวัยเรียนและกำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการค้นหาตัวเอง เลือกทางเดินในการมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง เพื่ออนาคตที่สดใสและชีวิตที่ดีกว่าเดิม