คมนาคมสั่งเร่ง 1 เดือนหาข้อสรุปใช้ยางพารา

852
0
Share:

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ากรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้เสนอแนวทางการนำยางพาราไปใช้ในโครงการก่อสร้าง 2 รูปแบบที่เหมาะสมได้แก่ 1.การนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมในการทำหลักกิโลและแนวกันโค้ง โดยมีสัดส่วนการใช้ยางพารา 63.22% ซึ่งหลักกิโล 1 แท่ง จะใช้ยางพารา 32 กิโลกรัม มีต้นทุน 1,566 บาทต่อความสูง 1.40 เมตร จากราคาน้ำยางดิบกิโลกรัมละ 38 บาท
.
2.แผ่นยาง กันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต (Rubber Buffer Barrier) โดยมีสัดส่วนการใช้ยางพารา 79.38% ซึ่งหลักกิโล 1 แท่ง จะใช้ยางพารา 60.8 กิโลกรัม มีต้นทุน 2,900 บาทต่อ 1 เมตร พร้อมคอนกรีต จากราคาน้ำยางดิบกิโลกรัมละ 38 บาท
.
โดยสั่งการให้ไปพิจารณานำแผ่นยางดังกล่าวไปใช้กับโครงการที่จะก่อสร้างในอนาคตทั้งหมด เช่น แบริเออร์คอนกรีตที่มีอยู่เดิมก็ได้ให้พิจารณานำแผ่นยางไปครอบไว้และต้องไปพิจารณาต้นทุนที่เพิ่มด้วย ส่วนการบำรุงรักษาแผ่นยางนั้นก็จะมีการทาน้ำยาเคลือบเมื่อใช้งานไปแล้ว 1 ปี เพื่อยืดอายุการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีอายุการใช้งานเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น
.
พร้อมกำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณารายละเอียดและออกแบบยางพาราให้สามารถรองรับความเร็วของรถได้ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้นจะมีการนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับ ความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และเมื่อผ่านการทดสอบดังกล่าวแล้วจะต้องมีการส่งต่อไปทดสอบยังต่างประเทศที่มีการทดสอบที่เป็นมาตรฐาน เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งมีหน่วยงานที่ได้รับ การรับรองด้านความปลอดภัยในระดับสากล
.
ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการทดสอบและสามารถนำมาทยอยใช้กับถนนในประเทศไทยได้ภายในต้นปี 2563 รวมถึง จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับปริมาณของยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้ยางและชัดเจนของเกษตรกรที่จะปลูกยางเพื่อให้มีราคาที่เหมาะสมที่จะนำยางพารามาใช้ โดยการทำ Rubber Buffer Barrier 1 กิโลเมตรนั้น จะต้องใช้น้ำยางพาราดิบถึง 6 ตัน