คมนาคมแจงสาเหตุล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดร่วงเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคองเสียหาย

373
0
Share:
คมนาคม แจงสาเหตุล้อ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หลุดร่วงเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคองเสียหาย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สาเหตุเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมา ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ จากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ ทั้งประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน โดยปัจจุบันบริษัท Alstom หรืออัลสตอม (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมขอยืนยันความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และจะดำเนินทุกมาตรการไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกทั้งการป้องกัน ตรวจสอบในด้านความปลอดภัยการเดินรถและกำหนดมาตรการ กฎระเบียบลงโทษผู้รับเหมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งที่ใช้บริการรถไฟฟ้า โดยในอนาคตจะมีการพิจารณาถึงเรื่องการตัดคะแนนหรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ

โดยในอนาคตหากตรวจพบว่าเป็นข้อบกพร่องจากผู้ประกอบการ ซ่อมบำรุงไม่ดี รับผิดชอบไม่เต็มที่ จะต้องถูกตัดคะแนน และมีผลต่อการประมูลงานครั้งต่อไปจะถูกยกเลิกได้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังหารือกับกระทรวงการคลัง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ถือเป็นการจัดทำมาตรฐานใหม่ในการคุมมาตรฐานของผู้ประกอบการ เพราะเชื่อว่าหากมีมาตรการคุมเข้มเรื่องนี้ผู้ประกอบการจะรักษาธุรกิจให้ดี เพื่อไม่ให้บริษัทต้องถูกแบล็คลิสต์ประมูลงาน

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อเจ้าหน้าที่พบสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติบริเวณล้อ จึงทำการขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟฟ้า YM17 ลงที่สถานี แล้วนำขบวนรถไฟฟ้าออกจากระบบ เพื่อไปตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ศรีเอี่ยม และนำขบวนรถหมายเลข YM 08 ขึ้นให้บริการทดแทนที่สถานีศรีเอียม (YL17) โดยไม่มีส่วนโครงสร้างทางได้รับความเสียหายจึงให้บริการจนถึงเวลา 24.00 น. ตามปกติ

สำหรับในวันนี้ (3 ม.ค.) ได้นำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่า มีความมั่นคงปลอดภัยมาให้บริการจำนวน 6 ขบวน ปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน โดยปรับรูปแบบการให้บริการมีความถี่ทุก 30 นาที จนถึง 6 ม.ค. 2567 ที่จะมีการตรวจสอบจนครบ 100% และทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที) ภายใน 8 ม.ค. 2567 ทั้งนี้จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีโดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 3-5 ม.ค. 2567 และกลับมาเก็บค่าโดยสารในวันที่ 6 ม.ค.นี้ โดยหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้ว สามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ต้องกลับมาทบทวนว่าระบบรถไฟรางเดี่ยว (โมโนเรล) เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ โดยจะต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสมมติฐานประเด็นอุณหภูมิความร้อน ความชื้น และระยะเวลาการใช้งาน เพราะต้องยอมรับว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบใหม่ที่ไทยเพิ่งนำมาใช้ อีกทั้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสองเดือนที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ในคนละลักษณะกัน