คมนาคมเปิดหวูด ให้บริการขบวนรถไฟทางไกล 52 ขบวน มั่นใจรองรับการเชื่อมต่อการเดินทาง

275
0
Share:
คมนาคม เปิดหวูด ให้บริการ ขบวนรถไฟทางไกล 52 ขบวน มั่นใจรองรับการเชื่อมต่อการเดินทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานพิธีเปิดบริการขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) และสายใต้ พร้อมปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย พร้อมนำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคมร่วมเดินทางขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ศูนย์รังสิตด้วย

ทั้งนี้การถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ขบวนรถไฟทางไกล ในเส้นทางสายเหนือ สายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย รถไฟสายเหนือ จำนวน 14 ขบวน รถไฟสายใต้ จำนวน 20 ขบวน. รถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน มาให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย ที่พัฒนาและยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางราง มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางอย่างครบครัน สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดจากทางตัดเสมอระดับทางรถไฟในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการที่สถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง ตามเดิม

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การรถไฟฯได้ดำเนินการตามแผนเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทาง และการเดินรถไฟทางไกล เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร โดยสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ป้ายบอกทาง ที่พักคอยผู้โดยสาร รถเข็นสัมภาระ ลานจอดรถที่สามารถรองรับได้มากกว่า 1,700 คัน

โดยขบวนรถไฟทางไกล ที่ย้ายการให้บริการจากสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) มายังสถานีกลางฯมีทั้งหมด 52 ขบวน โดยขบวนแรกที่จะเดินทางออกจากสถานีกลางฯได้แก่ขบวนรถเร็วที่ 171 เส้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สุไหงโก-ลก โดยออกจากสถานีกลางฯเวลา 13.19 น.

ส่วนขบวนที่เดินทางออกมาจากต่างจังหวัด และเข้าสู่สถานีกลางฯเป็นขบวนแรก ได้แก่ ขบวนรถด่วนดีเซลรางที่ 72 เส้นทางอุบลราชธานี-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะเดินทางถึงช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.

สำหรับขบวนรถไฟทางไกลที่ออกจากสถานีหัวลำโพงเป็นขบวนสุดท้าย ได้แก่ขบวนรถด่วนดีเซลรางที่ 71 เส้นทาง สถานีหัวลำโพง-อุบลราชธานี ช่วงเวลา 10.00 น.ของวันที่ 19 ม.ค.66

ขณะที่ขบวนรถไฟทางไกล ที่เดินทางเข้าสถานีหัวลำโพงเป็นขบวนสุดท้าย ได้แก่ รถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ที่ 38 เส้นทางสุไหงโก-ลก-สถานีหัวลำโพง ออกเดินทางจากสุไหงโก-ลก เวลาประมาณ14.20 น. ของวันที่ 18 ม.ค.66 ถึงสถานีหัวลำโพงเวลาประมาณ 12.45 น. ของวันที่ 19 ม.ค.66

ทั้งนี้ สถานีกลางฯมีพื้นที่ทั้งหมด 2,475ไร่ ขณะที่สถานีหัวลำโพง มีพื้นที่ 120 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวมของสถานีกลางฯ 298,200 0 ตารางเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง 34,142 ล้านบาท เป็นอาคาร 5 ชั้น มีห้องน้ำ713ห้อง ประกอบด้วย
ชั้นใต้ดินพื้นที่ 72,000 ตารางเมตร จอดรถยนต์ได้ 1,681 คัน จอดรถผู้พิการ 19 คัน รวมทั้งหมด 1,700 คัน
ชั้นลอย 12,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ร้านค้า จำหน่ายสินค้าโอท็อป และห้องควบคุมสถานีกลางฯ
ชั้นที่ 1 พื้นที่ 86,000 ตารางเมตร จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร ที่พักคอยและจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
ชั้นที่ 2 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นชั้นชานชาลา รองรับรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าสายสีแดง 4 ชานชาลา
ชั้นที่ 3 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทเรลลิ้งก์ เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 ชานชาลา และชานชาลารถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) 10 ชานชาลา รวม 24 ชานชาลา รองรับผู้โดยสารได้ 624,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำระดับสากล