8 ปีผ่านมาเวียดนามดึงต่างชาติลงทุนแซงเมืองไทยตั้งแต่ปี 2557 เงินทุนต่างชาติพุ่งถึง30%

679
0
Share:
8 ปีผ่านมา เวียดนาม ดึง ต่างชาติลงทุน แซงเมืองไทยตั้งแต่ปี 2557 เงินทุนต่างชาติพุ่งถึง30%

ดร. พิสิฐ อำนวยเงินตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามศึกษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเวียดนาม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ประเทศเวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษผ่านมา สะท้อนได้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment ที่เรียกกันว่า FDI พบว่าประเทศเวียดนามแซงประเทศไทยเมื่อปี 2014 หรือปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเกิดการทำรัฐประหารขึ้นมา

สาเหตุจาก ประเทศเวียดนามมีระบบการเมืองมีเสถียรภาพและนโยบายมีความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างประเทศพิจารณาการย้ายการลงทุนไปต่างประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากพอสมควร ประเทศเวียดนามได้เปรียบอย่างมากในประเด็นนี้

เมื่อ 12 ปีผ่านมา การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาในอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม จะพบว่าประเทศไทยจะได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติราว 30% ของปริมาณการลงทุนทั้งหมด ในขณะที่ประเทศเวียดนามได้ส่วนแบ่งราว 10% แต่จุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจนในช่วง 12 ปี ประเทศไทยได้รับสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติลดต่ำเหลือเพียง 10% ในเวลาเดียวกันสัดส่วนการลงทุนทางตรงของประเทศเวียดนามกลับพุ่งสูงขึ้นถึงประมาณ 30% หรือเพิ่มกว่า 3 เท่าในช่วงเวลานั้น

ดร. พิสิฐ อำนวยเงินตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามศึกษา กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2014 เมื่อประเทศเวียดนามแซงประเทศไทยอย่างชัดเจน เวียดนามยังแซงไปไกลอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเมืองประเทศไทยที่เปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเท่าที่ควร

ดร. พิสิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งออกของเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบสินค้าส่งออกหลักของไทย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังคงเป็นกลุ่มยานยนต์สันดาป ในขณะที่ประเทศเวียดนามส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มซัพพลายเชน โดยเฉพาะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิป เซมิคอนดักเตอร์ นี่คือสิ่งที่น่าห่วงกังวลสำหรับไทย

อุตสาหกรรมในประเทศไทยมีการลงทุนมาอย่างยาวนานและอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนานพอสมควร แต่สำหรับกรณีเวียดนามที่การลงทุนเพิ่มเข้ามาล้วนเป็นการตัดตอนมายังการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่เลยทำให้สามารถเดินหน้าได้รวดเร็วกว่า

ในแง่ขนาดเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของทั้ง 2 ประเทศ พบว่ามูลค่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยมีขนาดใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจเวียดนาม ในปี 2564 จีดีพีไทยมีมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท ในขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามอยู่ที่ 13.76 ล้านล้านบาท สิ่งที่น่าสนใจและสำคัญอย่างมากกลับอยู่ตรงที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม พบว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลังการฟื้นตัวหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 กำลังซื้อของประชาชนในประเทศเวียดนามที่แข็งแกร่ง ทำให้เวียดนามยังคงมีอัตราเติบโตสูงกว่าไทย โดยธนาคารโลกคาดการณ์จีดีพีในปี 2565 เวียดนามจะอยู่ที่ 7.2% ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 3.1%