ครม.มีมติสั่งทบทวนค่าแรงขั้นต่ำ จ่อคุยไตรภาคีอีกรอบ มองอัตราใหม่ต่ำเกิน 400 เหมาะสม

109
0
Share:
ครม.มีมติสั่งทบทวน ค่าแรงขั้นต่ำ จ่อคุยไตรภาคีอีกรอบ มองอัตราใหม่ต่ำเกิน 400 เหมาะสม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีมติรับทราบมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ที่เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2–16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น กระทรวงแรงงาน จึงขอเสนอกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง คาดว่าจะนำกลับเข้ามาในครม.ก่อนสิ้นปี 2566 นี้

นายพิพัฒน์ ระบุว่ากระทรวงแรงงาน เสนอมติของคณะกรรมการค่าจ้างเข้ามาครม. ตามกำหนด แต่ในการประชุมก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตและขอนำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม เพราะส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนำหลักการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ โดยใช้ฐานปี 2563-2564 มาเป็นสูตรคำนวณ โดยจะเสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ในการประชุมครม.วันนี้รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้มีการปรับขึ้น 2–16บาทต่อวัน แต่ยังไม่ได้เป็นตัวเลขที่จะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลทั่วประเทศภายในวันที่ 1 ม.ค. 2567 แต่อย่างใด โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบมติการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ให้มีมติปรับขึ้นค่าแรงในอัตราดังกล่าว แต่รัฐมนตรีแรงงานได้แจ้งที่ประชุม ครม.เองว่าสูตรในการคำนวณค่าจ้างแรงงานนั้นถือว่าใช้สูตรเก่าในการคำนวณจึงต้องมีการกลับไปหารือกับคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้งหนึ่ง

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการที่นายกรัฐมนตรีทักท้วงให้มีการทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าให้มากกว่าที่คณะกรรมการไตรภาคีได้มีการเสนอเข้ามานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตัวเลขที่ประกาศขึ้นมานั้นน้อยเกินไป และไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องแรงงาน จะเห็นได้ว่าค่าแรงที่ระดับ 300 บาทต้นๆ นั้นใช้มาตั้งแต่ปี 2012 แล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งการปรับขึ้นในครั้งนี้ควรจะเพิ่มมากกว่าตัวเลขที่ประกาศออกมา และใกล้กับระดับ 400 บาทต่อวันที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะสามารถปรับเพิ่มขึ้น 400 บาททั่วประเทศเท่ากัน ด้านนายพิชัย กล่าววาน่าจะทำได้เพราะไม่อย่างนั้นจะไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะแรงงานที่ทำงานประเภทเดียวกันในทุกจังหวัดก็ควรจะได้ค่าจ้างแรงงานเท่ากัน