คลังผนึกแบงก์ชาติ จัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน หลังพบพุ่งขึ้นกว่า 90% ต่อจีดีพี

330
0
Share:
คลัง ผนึก แบงก์ชาติ จัดการปัญหา หนี้ครัวเรือน หลังพบพุ่งขึ้นกว่า 90% ต่อจีดีพี

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ได้จับมือกับสมาคมสถาบันการเงินต่างๆ และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน ซึ่งล่าสุด มีสถาบันการเงินตอบรับเข้าร่วมแล้ว 56 ราย และคาดว่าจะเห็นสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ เข้าร่วมมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล ,เช่าซื้อรถ ,จำนำทะเบียนรถ ,นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อทุกประเภทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยจะจัดงานมหกรรมสัญจร ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างยั่งยืน และถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยมานาน โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ส่งผลหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 90 %หรือเพิ่มขึ้น 10% หากเทียบกับก่อนโควิด-19 ธปท.จึงให้ความสำคัญ กับการดูแลหนี้กลุ่มเปราะบาง ผ่าน 4 ด้านหลัก แก้หนี้เดิม ,เติมเงินใหม่ ,การให้คำปรึกษา และเสริมทักษะทางการเงิน เช่น การแก้หนี้เดิม การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ที่ปัจจุบันเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 3.89 ล้านบัญชี หรือ 2.98 ล้านล้านบาท การเติมเงินใหม่ ที่ปัจจุบันมีการให้สินเชื่อใหม่ผ่านซอฟท์โลน สินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 1.3 แสนราย หรือ 3.24แสนล้านบาท รวมถึงการปรับเงื่อนไขสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมศักยภาพ ผ่านสินเชื่อปรับตัว ที่จะเริ่มให้ได้ตั้งแต่ 5 ก.ย.เป็นต้นไป

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ด้าน แก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม ที่วันนี้แบงก์รัฐมีการช่วยผ่านมาตรการพักหนี้ไปแล้วราว 10 ล้านราย ราว 4.5-5 ล้านล้านบาท และมีลูกหนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 3.5 ล้านราย มูลหนี้ 1.3 ล้านล้านบาท และมีลูกหนี้เข้าข่ายขอรับความช่วยเหลืออีกราว 2 ล้านราย ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับ ธปท. และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจัดมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้สัญจรทั้งในกรุงเทพมหานคร และอีก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ในช่วงเดือน พ.ย. 65- ม.ค. 66 จะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ฝึกอาชีพ ส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินของรัฐ