คลั่งมั่นใจแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดันไตรมาส 4 ฟื้นตัวต่อเนื่อง

584
0
Share:

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะปรับตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3 และคาดว่าภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปีนี้จะขยายตัวติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ได้ผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังทยอยเห็นผล ทั้งโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงโครงการช้อปดีมีคืนที่จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจในระยะต่อไป ขณะที่การส่งออกก็มีทิศทางดีขึ้นเช่นกัน
.
เพราะขณะนี้ภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ออกมาแล้ว 80-90% แต่ยังเหลือปัจจัยสำคัญอย่างภาพรวมทั้งหมดของภาคการอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดงานมหกรรมเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อต่าง ๆ เช่น มอเตอร์เอ็กซ์โป ว่าจะมีผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปีแค่ไหน
.
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.63 มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี
.
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ติดลบ 9.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ชะลอตัวลง และปัจจัยฐานสูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนโครงการกระตุ้นการบริโภคของรัฐอย่าง โครงการคนละครึ่งนั้น คาดว่าจะส่งผลดีกับภาพรวมการบริโภคในเดือนถัดไป ขณะที่การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ติดลบ 25.9% และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ติดลบ 11%
.
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.9 เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้มากขึ้น โดยรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือน ต.ค. ขยายตัว 12.6%
.
นอกจากนี้ ภาพรวมการลงทุนของภาคเอกชนส่งสัญญาณส่งทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัว 10.4% ต่อปี โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน ติดลบ 17% ส่วนการค้าระหว่างประเทศชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ติดลบ 6.7% จากการลดลงของการส่งออกสินค้าสำคัญ อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปอาเซียน 9 ประเทศ ติดลบ 23.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐ ขยายตัว 17% และทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 4.2%
.
รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 86 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน