ความเหลื่อมล้ำใช้อินเทอร์เน็ตคนไทยลดต่ำลง คนไทยท่องเน็ตกินเวลาชีวิตถึง 1 ใน 3 ของวัน

244
0
Share:
ความเหลื่อมล้ำ ใช้ อินเทอร์เน็ต คนไทยลดต่ำลง คนไทยท่องเน็ตกินเวลาชีวิตถึง 1 ใน 3 ของวัน

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยผลการสำรวจประจำปี 2566 ระบุว่าตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้น และแนวโน้มของแต่ละมิติเชิงนโยบายเป็นดังนี้

ด้านการเข้าถึง พบว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 89.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีการเข้าถึง 88% ด้านการใช้งาน พบว่าสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยอยู่ที่ 87.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 85%

ด้านอาชีพ เห็นได้ชัดว่าสัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทย คิดเป็น 35.96% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 34.4% เล็กน้อย
และด้านสังคมมีสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ (55-74 ปี) คิดเป็น 71.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 63.1%

นอกจากนี้ การเปิดเสรีของตลาด ทำให้สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการทางออนไลน์ไปยังตลาดต่างประเทศ สูงถึง 31.53% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนเพียง 26.29%

ด้านนวัตกรรมมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมไอทีต่อ GDP ในปี 2565 อยู่ที่ 0.93% ส่วนความน่าเชื่อถือมีสัดส่วนผู้ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว อยู่ที่ 14.52%
และด้านการเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ พบว่าสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในธุรกิจดิจิทัล ปี 2565 คิดเป็น 40% ของภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอีก 9 ประเด็น ได้แก่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2563 อยู่ที่ 11.9% ลดเหลือ 6.5% ในปี 2566 หมายความว่าผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ที่น่าสนใจ คือ มี 75.92% ของหน่วยงานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศมีการให้บริการออนไลน์ เพื่อเพิ่มทางเลือกหรือช่องทางในการให้บริการ สิ่งสำคัญ คือคนไทยมีแนวโน้มใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 7.25 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งกิจกรรมดิจิทัลที่คนไทยใช้งานมากสุด คือการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ตามมาด้วยการใช้เพื่อสนทนา และรับชมวิดีโอ สินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สินค้าแฟชั่น สินค้าอุปโภคบริโภค บริการดีลิเวอรี่ และสินค้า/บริการเพื่อความบันเทิง

ขณะที่แรงงานดิจิทัลทวีความสำคัญมากขึ้น ภาคธุรกิจบางส่วนมีการจ้าง Digital Nomad หรือบุคคลที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลักและใช้ชีวิตแบบพเนจร มาทดแทนแรงงานที่หายาก/ขาดแคลน และในอนาคตยังมีความต้องการสายงานดิจิทัลอยู่อีกมาก

ผลสำรวจยังพบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงาน แต่ทักษะด้านความปลอดภัยในการใช้งานและทักษะที่ต้องการในอนาคตยังมีไม่มาก ส่วนปัญหาการใช้งานดิจิทัลทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวง ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของภาคประชาชน