ค่าพีกไฟฟ้ารอบที่ 4 ทะลุ 33,062 เมกะวัตต์ ปริมาณใช้ไฟฟ้าพุ่งแรงอีก พลังงานแจง

204
0
Share:
ค่าพีก ไฟฟ้า รอบที่ 4 ทะลุ 33,062 เมกะวัตต์ ปริมาณใช้ไฟฟ้าพุ่งแรงอีก พลังงานแจง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า ภาวะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของระบบ 3 การไฟฟ้าสูงสุดเป็นรอบที่ 4 เมื่อวาน วันที่ 20 เม.ย. 66 เวลา 20.50 น. ที่ระดับ 33,062 เมกะวัตต์ (MW) แต่ยังต่ำกว่า ปี 2565 ที่ระดับ 33,177 MW เนื่องมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องทำความเย็น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศมากขึ้นต่อเนื่อง

แต่หากคิดเฉพาะของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวานนี้พบว่าอยู่ที่ระดับ 32,323.7 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติ กฟผ ปี 65 ที่เคยพีก 32,254.5 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 65 เวลา 22.36 น.

ก่อนหน้านี้ จากระบบ 3 การไฟฟ้า เกิดค่าพีคไปแล้ว 3 ครั้ง คือ
1. ครั้งแรก 27 มี.ค. 66 เวลา 15.43 น. Peak ระบบ 3 การไฟฟ้า 31,054.6 เมกะวัตต์
2. ครั้งที่ 2 วันที่ 4 เม.ย. 66 เวลา 15.28 น. มียอดการใช้ไฟฟ้าพีคอยู่ที่ 31,495.5 เมกะวัตต์
3. ครั้งที่ 3 วันที่ 6 เม.ย. 66 เวลา 20.52 น. ที่ระดับ 32,154.4 เมกะวัตต์ ที่ระดับอุณหภูมิ 31.2 องศาเซลเซียส

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในเดือน เม.ย. 66 ขอเรียนว่าเนื่องจากในเดือน เม.ย. เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ทำให้การใช้เครื่องปรับอากาศ ใช้กำลังไฟมากขึ้นในการที่จะรักษาอุณหภูมิให้ปกติจะเป็นอย่างที่หลายหน่วยงานได้ออกมาแจ้งยืนยัน ขอยืนยันว่าค่าไฟฟ้าไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงคิดอัตราค่าไฟฟ้า ในช่วงระยะเวลาเดิม คือ งวดวันที่ 1 ม.ค. ถึง 30 เม.ย. 66 ที่ยังไม่มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยยังคงเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย แต่อัตราค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า หรือปรับเพิ่มเป็นขั้นบันไดยกตัวอย่างเช่น ประเภทผู้ใช้ครัวเรือน อัตราที่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปร Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเริ่มต้นโดยถ้าใช้ตั้งแต่ 1–150 หน่วยอยู่ที่ 3.2484 บาทต่อหน่วย 151–400 หน่วย อยู่ที่ 4.2218 บาทต่อหน่วย เกิน 400 หน่วยอยู่ที่ 4.4217 บาทต่อหน่วย เมื่อประชาชนใช้ไฟฟ้าเปิดเวลาเท่าเดิมแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศทำงานหนัก และกินไฟฟ้าหลายหน่วยเพิ่มมากขึ้นทำให้อัตราเพิ่มสูงขึ้นจึงเกิดค่าไฟแพงขึ้น

สำหรับเรื่องที่มีการกล่าวถึงว่า อัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ของประเทศไทย สูงถึง 50–60% ขอเรียนว่า การผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ อย่างต่อเนื่องและมั่นคง จำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) เพื่อรองรับเหตุต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าตามปกติได้ เช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติเพื่อซ่อมแซม หรือโรงไฟฟ้าหยุดผลิตไฟฟ้าเนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องหรือปิดซ่อมบำรุง ซึ่งรวมทั้งกรณีที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีความผันผวน เป็นต้น

การมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินไป บ่งบอกว่าอาจมีโรงไฟฟ้ามากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ผลกระทบที่ตามมา คือ อัตราค่าไฟก็จะสูงขึ้น เนื่องจากค่าไฟฟ้าคิดรวมต้นทุน ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วย หากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองน้อยก็จะส่งผลให้มีความเสี่ยงในการขาดแคลนไฟฟ้าในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสม สอดคล้องกับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดที่ได้นั้น มีบางส่วนที่มาจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ซึ่งไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องด้วยปัจจัยของช่วงเวลาหรือฤดูกาล จึงไม่สามารถประเมินโดยใช้ยอดกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดได้