ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 37.55 บาท นักลงทุนยังจับตา กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 28 ก.ย.นี้

240
0
Share:
ค่าเงินบาท เปิดตลาดที่ 37.55 บาท นักลงทุนยังจับตา กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 28 ก.ย.นี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 ก.ย.65) ที่ระดับ 37.55 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.20-37.80 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.45-37.65 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้กดดันให้ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และในสัปดาห์นี้ มองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ส่วนในฝั่งไทย ไฮไลต์สำคัญคือผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป 0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยอาจมีกรรมการ 1-2 ท่านที่อาจสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 0.50% ด้วยเหตุผล เช่น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินบาทจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และเศรษฐกิจก็มีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติ รวมถึง นักวิเคราะห์บางส่วนต่างคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หาก กนง. ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ทั้งนี้ ควรระวังแรงขายเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม กนง. หาก กนง. ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยหากแรงขายสินทรัพย์ไทยเริ่มลดลงก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ อนึ่ง ประเมินแนวต้านเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวจะเปิดโอกาสการอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในระยะสั้นนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มองว่า เงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่คาดและคาดว่าโมเมนตัมเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) รวมถึงแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินฝั่งยุโรป (EUR & GBP) ท่ามกลางความกังวลทั้งปัญหาการเมืองอิตาลี รวมถึงวิกฤตพลังงานในยุโรปและความเสี่ยงเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนัก