ค่าแรงขั้นต่ำจ่อขึ้น 5-8% กระทบ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมในตลาดหุ้นไทย

311
0
Share:

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส หรือ APS เปิดเผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% พบว่ากระทรวงแรงงานจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงไตรมาส 4 ราว 5 – 8% เมื่อย้อนไปดูข้อมูลในอดีต 12 – 13 ปีที่ผ่านมา พบว่า กระทรวงแรงงานมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 6 ครั้ง หากไม่นับปี 2554 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในช่วง 3 – 15 บาท/วัน หรือมีการปรับขึ้น 1% – 5% เป็นต้น จึงเป็นการยืนยันได้ว่า เป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต

ฝ่ายวิจัยฯ บล. APS ได้รวบรวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะเสียประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างต้นทุนแรงงานในสัดส่วนสูง ได้แก่อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง เกษตรอาหาร พัฒนาที่อยู่อาศัย  ชิ้นส่วน ค้าปลีก  โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กลุ่มอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง พบว่า จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก ทั้งรูปแบบการจ้างงานโดยตรงและการจ้างผ่านผู้รับเหมาช่วง โดยต้นทุนค่าแรงที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ในส่วนของคนงานก่อสร้างที่มีทั้งการจ้างโดยตรงและการจ้างผ่านผู้รับเหมาช่วง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนทั้งหมด โดยเงินที่จ้างผ่านผู้รับเหมาช่วงจะมีการรวมทั้งค่าแรงงานและค่าวัสดุก่อสร้างเข้าไปด้วย หากตั้งสมมุติฐานว่าค่าแรงอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วน 50% ของค่าจ้างเหมาช่วง เท่ากับว่าต้นทุนที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำน่าจะมีสัดส่วนประมาณ 10-15% ของต้นทุนทั้งหมด

ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% จะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง 0.10-0.15% แต่ในทางปฏิบัติ หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจริงบริษัทรับเหมาก่อสร้างและบริษัทที่รับเหมาช่วง จะแบ่งกันรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไปคนละส่วน อีกทั้งบริษัทรับเหมางานภาครัฐ จะมีเงินชดเชยจากค่า K ซึ่งมี เงินเฟ้อ เป็นองค์ประกอบในการคำนวณด้วย ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% ฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างไม่เกิน 0.1%

กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร พบว่ามีโครงสร้างค่าแรง (DL) ในไทยเฉลี่ยราว 1.5-8% ของต้นทุนรวม แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะจ่ายค่าแรงสูงกว่า ค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้วแต่หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำ ผู้ประกอบการก็ต้องปรับเพิ่มค่าแรงให้พนักงานด้วยเช่นกัน โดยฝ่ายวิจัยทำ Sensitivity หากผู้ประกอบการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้น 5% โดยสมมติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลง จะส่งกระทบแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มเกษตร-อาหารปี 2566 ราว 4.7% จากปัจจุบัน

กลุ่มอุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัย พบว่าเนื่องจากโครงสร้างต้นทุนสัดส่วนหลัก 30-40% มาจากต้นทุนที่ดิน ตามด้วยต้นทุนก่อสร้างและแรงงานราว 40-50% ที่เหลือเป็นงานโครงสร้างและอื่น ๆ และหากพิจารณาแยกเฉพาะต้นทุนค่าแรงงานที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำ จะอยู่ในงานก่อสร้างที่ส่วนใหญ่ผ่านการจ้างงานกับผู้รับเหมา คาดคิดเป็น 20% ของต้นทุนรวม หรือราว 13% ของยอดขาย (อิง Gross Margin ขายฯ เฉลี่ย 33%) ภายใต้สมมติฐานการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5% จะกระทบต่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 1%

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติผลกระทบการขึ้นค่าแรงส่วนใหญ่จะอยู่กับกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาที่ได้ว่าจ้างในการจัดการงานก่อสร้าง เนื่องจากใช้วิธีการ Outsource กับผู้รับเหมาฯ และปกติงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยมีการทำสัญญาล่วงหน้า และต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างเพื่อส่งมอบ

ดังนั้นจึงไม่กระทบต่อโครงการเดิมที่สร้างเสร็จแล้ว ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ปกติในสินค้ากลุ่มคอนโดฯ มีการกำหนดต้นทุนเรียบร้อย และบางบริษัท ทำสัญญากับผู้รับเหมาแบบTurnkey กล่าวคือผู้รับเหมาเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนแนวราบอาจมีการเจรจาต่อรองเรื่องต้นทุน ขณะที่โครงการใหม่ จะถูกส่งผ่านไปยังราคาขายใหม่ตามต้นทุนใหม่

นอกจากนี้ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการนำเทคโนโลยีเข้าช่วยในงานก่อสร้าง เช่นPrecast สามารถลดแรงงานคนได้พอสมควร รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนอื่น เพื่อไม่ให้dระทบต่อมาร์จิ้นอย่างมีนัยฯ ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพทำกำไรตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2564) พบว่า ผู้ประกอบการยังสามารถรักษา Gross Margin ในกรอบ 32-34% และ Norm Profit ในกรอบ 13-15% แม้เผชิญกับวัฏจักรเรื่องต้นทุนก่อสร้างและแรงงานที่ปรับขึ้นก็ตาม (ยกเว้นปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและส่วนใหญ่เน้นขายสต๊อก พร้อมลดราคา ทำให้ GP ปีดังกล่าวลงมาอยู่ที่ 31% และ Norm Profit อยู่ที่ 12.5% ก่อนเห็นการฟื้นตัวขึ้นในปีถัดไป)

กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ พบว่า มีสัดส่วนค่าแรงงานเฉลี่ย 5-8% ของต้นทุนรวม โดยฝ่ายวิจัยทำSensitivity หากผู้ประกอบการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้น 5% โดยสมมติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลง จะส่งกระทบแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มชิ้นส่วนปี 2566 ราว 2.2% จากปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการชิ้นส่วนในไทยจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างรายวันสูงกว่าค่าแรงขึ้นต่ำอยู่แล้ว แต่มีโอกาสขึ้นค่าแรงอีกเพื่อป้องกันการย้ายงานในอนาคตได้

ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มอุตสาหกรรมรับเหมา ICT : แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นลูกจ้างรายวันในบริษัท แต่จะเป็นการจัดหาแรงงานภายนอก (Outsource) ทำให้ภาระการจ่ายค่าแรงส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับผู้รับเหมาช่วงที่มารับงานแทน ทั้งนี้หากผู้ประกอบการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 5% โดยสมมติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลง คาดจะส่งกระทบแนวโน้มกำไรสุทธิน้อยกว่า 4.1% จากปัจจุบัน