จัดใหญ่อีก! สหรัฐ-กลุ่มจี 7 เตรียมคว่ำบาตรห้ามนำเข้าทองคำจากรัสเซีย

274
0
Share:

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโจ ไบเดน และผู้นำสูงสุดจากประเทศยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรม 7 ชาติสมาชิก หรือกลุ่มจี 7 เตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดใหม่ในการประชุมที่เริ่มต้นขึ้นในวันนี้ 26 มิถุนายนที่ประเทศเยอรมนี สำหรับมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มประเทศจี 7 สั่งห้ามนำเข้าทองคำจากประเทศรัสเซียอย่างเป็นทางการ สำหรับสหรัฐอเมริกา กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา จะประกาศบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในวันอังคารที่ 28 มิถุนายนนี้
ก่อนหน้านี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลายมาตรการรวมถึงสินค้าทองคำจากรัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่เป็นเหมืองขุดทองคำใหญ่อันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ตาม นับจากการประกาศมาตรการคว่ำบาตรทองคำอย่างเป็นทางการในวันนี้ จะทำให้การซื้อขายทองคำของประเทศรัสเซียกับศูนย์กลางซื้อขายทองคำระดับโลกทั้งตลาดทองคำนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และลอนดอน อังกฤษ ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมอีกต่อไปได้

สมาคมค้าทองคำลอนดอน อังกฤษ หรือ LBMA ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานตลาดซื้อขายทองคำระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ประกาศปลดโรงงานผลิตทองคำออกจากรายชื่อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล นับตั้งแต่ประเทศรัสเซียทำสงครามตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นต้นมานั้น การส่งออกทองคำจากประเทศรัสเซียมาถึงอังกฤษกลายเป็นศูนย์จากการประกาศมาตรการคว่ำบาตรของอังกฤษในช่วงแรกๆ
ตลาดทองคำลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในตลาดทองคำสำคัญของประเทศรัสเซีย ในปี 2564 ทองคำที่ส่งออกมาถึงสหราชอาณาจักรมีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 540,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 28% ของการนำเข้าทองคำของสหราชอาณาจักร

ข้อมูลสภาทองคำโลก World Gold Council พบว่า เมื่อปี 2020 จีนเป็นประเทศเหมืองทองคำอันดับ 1 ของโลก มีสัดส่วนราว 10.6% อันดับ 2 คือรัสเซียมีสัดส่วน 9.5% อันดับ 3 ออสเตรเลีย 9.4% อันดับ 4 สหรัฐอเมริกา 5.5% อันดับ 5 แคนาดา 4.9% และอื่นๆ รวมกัน 60.1%

ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียอาจตัดสินใจส่งออกทองคำไปขายในประเทศอื่นๆ เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อเป็นการทดแทนรายได้จากตลาดส่งออกทองคำสำคัญของรัสเซียที่ปิดกั้นการนำเข้าทองคำจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำที่รัสเซียจะขายให้กับตลาดอื่นๆ จะได้รับแรงกดดันให้ขายในราคาถูกลงอย่างมาก เหมือนกับการขายน้ำมันดิบในราคาที่ถูกลงจากราคาตลาดน้ำมันดิบโลก