“จิรายุ ห่วงทรัพย์” อัดรัฐบาลล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่โปร่งใส

666
0
Share:

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทว่า การประมูลโครงการดังกล่าว มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตั้งคณะกรรมการ 8 อรหันต์ ตามมาตรา 36 ส่วนใหญ่เป็นคนในกระทรวงคมนาคม มีอำนาจสามารถแก้ไข้เปลี่ยนแปลงการประกวดราคาได้ โดยมีการจัดตาม “ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย” พร้อมใช้ทฤษฎีสมคบคิดแบ่งงานกันทำ มีเจตนาพิเศษ
.
โดย 7 ส.ค.63 บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเปิดประมูลว่าทำไม่ได้ ต่อมาวันดีเดย์ 21 ส.ค.63 จึงมีการแก้ไขเงื่อนไขการเปิดประมูล ได้เชิญนายภคพงษ์ ศิริกันธรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาร่วมประชุม ซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการตามมาตรา 36 และจากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคาสายสีส้มในเวลาต่อมา บันทึกการประชุมวันที่ 21 ส.ค. มีเนื้อหาว่าคณะกรรมการบางคน ทักว่าทำได้หรือไม่ และจะเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ แต่ผู้ว่าฯ รฟม.บอกว่าเราสงวนสิทธิไปแล้วว่าเปลี่ยนแปลงได้ ไฮไลต์สำคัญคือตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา เป็นตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้ ตอบว่าเปลี่ยนเงื่อนไขการประกวดราคาได้ กระทั่งที่ประชุมมีมติแก้ไขเงื่อนไขการประมูล เว้นแต่ผู้แทนจากสำนักงบประมาณเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
.
ดังนั้น จึงอยากถามว่าทำไมผู้ว่าฯ รฟม.เพิ่งมาคิดเปลี่ยนแปลง มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ต่อมา บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เอกชนที่ซื้อซองประมูลไปแล้ว ฟ้องศาลปกครอง แต่คณะกรรมการทั้ง 8 คนก็ล้มประมูล ไม่รอการตัดสินของศาล
.
ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะโครงการสีส้มเป็นโครงการใหญ่ แล้วทำกันอย่างนี้หรือ นักลงทุนที่ไหนจะกล้ามาลงทุน เพราะเปิดประมูลไม่ตรงไปตรงมา แบ่งงานกันทำ และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ไม่เห็นประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนใช่หรือไม่ และอยากเตือนเอาไว้ว่า ก่อนหน้านี้ศาลก็ได้ตัดสินจำคุก 6 ปี อดีตผู้ว่าฯ รฟท.คดีแอร์พอร์ตลิงก์เอาไว้เป็นอุทาหรณ์ จึงเป็นเหตุให้ตนไม่ไว้วางใจนายกฯ และรมว.คมนาคม
.
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวชี้แจงว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) โดยในขณะนี้ มีความก้าวหน้า 76% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 เปิดให้บริการช่วง ต.ค. 2567
.
2.ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ในขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2563 ที่ให้ดำเนินการโครงการรูปแบบ PPP Net Cost รอหาเอกชนมาร่วมลงทุน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการ เม.ย. 2570
.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนตะวันออก จะเป็นสัญญาก่อสร้างงานโยธาเป็นหลัก แต่ขณะที่ส่วนตะวันตก จะรวมการเดินรถเข้าไปด้วย ทั้งนี้ หากส่วนตะวันตกไม่สามารถดำเนินการได้ จะส่งผลให้ส่วนตะวันออกจะยังไม่เปิดให้บริการ
.
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงประเด็นการคัดเลือกเอกชนว่า ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 รฟม. มีคำสั่งที่ 67/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามมติ ครม.ที่อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมจึงได้ทำหนังหารือไปยังสำนักเลขาธิการ ครม. โดยเป็นการอนุมัติหลักการโครงการเท่านั้น ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ รฟม. ดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และตามหลักธรรมภิบาล
.
ยืนยันว่า การดำเนินการโดยใช้ราคาและคุณภาพนั้น เพราะเป็นเรื่องการขุดอุโมงค์ และที่ผ่านมา การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็มีปัญหาเรื่องสิ่งปลูกสร้างแตกร้าว เช่น มีน้ำรั่วไหลเข้าไปในสถานีสามยอด ทำให้เทคนิคการก่อสร้างมีความสำคัญ เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ต้องผ่านชุมชนหนาแน่น ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงพื้นที่สำคัญอื่นๆ ส่วนการยกเลิกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีการสงวนให้มีการยกเลิกได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียได้ และได้มีการหารือสำนักนายกฯ แล้ว พร้อมทั้งสั่งการให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบ
.
สำหรับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ภายหลังการยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และการคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา โดยภายใน ก.พ.นี้ รฟม. จะจัดรับฟังความเห็นความสนใจการลงทุนของภาคเอกชน (Market Sounding) และสาระสำคัญของเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) จากนั้นคณะกรรมคัดเลือกจะเห็นชอบประกาศเชิญชวน, RFP และร่างสัญญาฯ
.
ขณะเดียวกัน รฟม.จะออกประกาศเชิญชวน และขายเอกสาร RFP ภายใน มี.ค. 2564 ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วง มี.ค.-พ.ค. 2564 หลังจากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเมินข้อเสนอ-เจรจาต่อรอง ช่วง พ.ค.-ก.ค. 2564 ก่อนส่งต่อให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ และคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกฯ และลงนามสัญญาภายใน ก.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อยกเลิกการประมูลแล้วคัดเลือกใหม่นั้น จะใช้เวลา 6 เดือน ช่วยลดระยะเวลาได้ 1 ปี หรือหากรอให้ข้อพิพาทถึงที่สุด จะใช้ระยะเวลา 18 เดือน
.
ที่กล่าวหาว่า การดำเนินการเอื้อประโยชน์ ผมขอถามกลับว่าเอื้อประโยชน์ใคร ใครได้ประโยชน์ เพราะโครงการนี้ ยังไม่มีการประกาศผลว่าใครชนะ ยังไม่มีการเปิดซอง ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ และท่านนายกฯ สั่งการมาตลอด ผมต้องถามว่า ผิดกฎหมายตรงไหน แล้วเกี่ยวกับรัฐมนตรีว่าคมนาคมตรงไหนที่ไม่กำกับดูแล และผู้อภิปรายท่านเอาข่าวมาปะติดปะต่อ และใช้จินตนาการ